พระยาอมรฤทธิธำรง ( พร้อม ณ ถลาง เป็นบุตรคนโต ของ หลวงเทพนิธยานุกูล ( ชื่น ณ ถลาง ) และ หร่าย มุสิกธัช เกิดที่ตำบลบ้านส้านใน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๕ มีพี่น้องอีก ๓ คน ดังนี้ ๑ ระเบียบ ๒ สมบูรณ์ ๓ ผิว ต่อมาเมื่อภรรยา หร่าย ฯ เสียชีวิต หลวงเทพนิธยานุกูล ได้สมรสกับ แย้ม จันทร์โรรจน์วงศ์ มีบุตรหญิง ๒ คน คือ ๑ ระรื่น ๒ ระเรียบ
การศึกษา เมื่ออายุ ๗ ขวบ ได้เรียนภาษาไทยและเลข กับบิดา ซึ่งเป็นคลังจังหวัดภูเก็ต ต่อมาเข้าวัยรุ่น ได้ไปเรียนที่โรงเรียน Anglo Chinese School เมืองปีนัง อยู่หลายปี จนสามารถพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ, ภาษาจีนและภาษามลายู จนอายุ ๑๖ ปี บิดาหลวงเทพนิธยานุกูล ได้ถึงแก่กรรม พระยาอมรฤทธิธำรง ได้คุณผวน มุสิกธัช อุปการะ ดูแลจนเรียนจบชั้น ๗ จากโรงเรียน Anglo Chinese School ได้เข้าศึกษาต่อในวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ณ โรงเรียน ข้าราชการพลเรือน ( ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ) จนจบหลักสูตร
การรับราชการ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เข้ารับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กฝึกหัดราชการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นมหาดเล็กมณฑลนครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นจ่าเมืองสงขลา พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นนายอำเภอท่าศาลา และได้อุปสมบทที่วัดพระบรมธาตุ จัวหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ทรงพระกรุณาเป็นองค์อุปถัมภ์ ได้จำพรรษาที่วัดท่าโพธิ์ ได้เรียนพระธรรมวินัยและภาษาบาลี จนสอบได้นักธรรมตรี ต่อมาเมื่อลาสิกขา ก็กลับไปรับราชการต่อในตำแหน่งนายอำเภอท่าศาลา
พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นเลขานุการมณฑลที่สงขลา ด้วยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ต้องการผู้ใกล้ชิดที่ถูกพระทัย พระยาอมรฤทธิธำรง จึงได้รับตำแหน่งนี้เป็นเวลาถึง ๔ ปี และได้มีโอกาสตามเสด็จไปประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ในฐานะเลขานุการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ และกลับเมืองไทยเมื่อ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๒
พ.ศ. ๒๔๖๔ เป็นปลัดจังหวัดชุมพร พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นผู้ว่าราชการอำเภอเบตง
พ.ศ. ๒๔๖๖ กระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐบาลไปทำการปักหลักเขตแดนระหว่างท้องที่อำเภอเบตงกับท้องที่อำเภอโกร๊ะในดินแดนเปรัคเหนือของอังกฤษ ที่บ้านกาแป๊ะฮง
พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๗๑ ได้รับคำสั่งสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปัตตานี ให้ไปสืบเหตุการณ์บางอย่างหลายครั้งในแหลมมาลายูของอังกฤษ
พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นผู้ว่าราขการจังหวัดระนอง
พ.ศ. ๒๔๗๕ กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหลวงสิทธิสยาม ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ ไปเจรจากับรัฐบาลพม่าของอังกฤษ เกี่ยวกับปัญหาการปรับปรุงเส้นแนวระหว่างจังหวัดระนองกับจังหวัดมะริด ผลการเจรจาที่ตกลงกันคือ รัฐบาลอังกฤษ มอบเกาะหาดลานควายและเกาะกลางคลองสีสุก มีเนื้อที่ประมาณ ๓๕๖ ไร่ให้แก่รัฐบาลไทย แลกกับฝ่ายไทยมอบเกาะคลองวันและเกาะวังทู้ เนื่อที่ประมาณ ๖๐ ไร่ ให้แก่รัฐบาลอังกฤษ นับเป็นประวัติศาสตร์ที่ไทยได้เปรียบอังกฤษ
พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพร
พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพระนครและธนบุรี
พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๔๘๔ เดือนกุมภาพันธ์ เป็นข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย ด้วยปัญหาขัดแย้งกับฝรั่งเศษ สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเกรงใจฝรั่งเศษ หลังจากได้ถูกย้ายเช้ากระทรวงมหาดไทย ได้ ๒ เดือน ก็ได้ลาออกจากราชการและพาครอบครัวกลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดนครศรีธรรมราช .
พ.ศ. ๒๔๙๑ วันที่ ๙ มกราคม ๒๔๙๑ พระยารัตนภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในเวลานั้น อดีตเพื่อนนักเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นผู้เชิญขอให้กลับมารับราชการอีกในตำแหน่งข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย ภาค ๕
.
บรรดาศักดิ์ที่ได้รับ
พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นขุนนิพัทธ์ชนานุกูล
พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นหลวงนิพัทธ์ชนานุกูล
พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นพระนิพัทธ์ชนานุกูล มียศ อำมาตย์โท
พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นพระยาอมรฤทธิธำรง
ภายหลังการลาออกจากราชการ หลังจากกลับไปอยู่บ้านที่นครศรีธรรมราช เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นกองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นยกที่นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ได้มีการสู้รบกันอย่างรุนแรงที่ตำบลท่าแพ มีพลโทหลวงเสนาณรงค์ ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ ๖ พระยาอมรฤทธิธำรง ได้พยายามช่วยเหลือทางการและสงเคราะห์ครอบครัวทหารอย่างเต็มความสามารถ ได้เข้ารายงานตัวต่อพระสาครบุรานุรักษ์ ผู้ว่าราขการจังหวัดนครศรีธรรมราช อาสาช่วยราชการ อาศัยความเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยด้วยกัน ผู้ว่าจึงได้มอบหมายให้ดำเนินการด้านสงเคราะห์ครอบครัวทหาร โดยใช้บ้านเป็นกองอำนวยการชั่วคราว และความรู้ทางภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ทำให้เจรจาเกิดความเข้าใจอันดีระหว่างทางราชการไทยกับฝ่ายญี่ปุ่น เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางดี จนเหตุการณ์สงบ..
พ.ศ. ๒๔๘๕ นายเยื้อ วิชัยดิษฐ์ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งขณะนั้นเป็นศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขอร้องให้ พระยาอมรฤทธิธำรง ไปเป็นผู้จัดการโรงเรียนมิชชันนารีทั้งสองโรงเรียน คือ โรงเรียนศึกษากุมารีและโรงเรียนศรีธรรมราชวิทยา เนื่องจากทหารญี่ปุ่นเข้ายึกครองสถานที่และทำเป็นกองบัญชาการชั่วคราว หลังจากฝ่ายไทยสงบศึกกับญี่ปุ่นแล้ว จึงเรื่มเปิดใหม่ ท่านได้เป็นผู้จัดการโรงเรียนทั้งสองแห่งอยู่ ๔ ปี
พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้ร่วมกับคุณหลวงปริญญาโยควิบูลและมิตรสหายอีก ๔ ท่าน ร่วมจัดตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๒ ตามที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรท์ได้เขียนบันทึกว่า เด็กนั้กเรียนเล็กๆ ของโรงเรียนสัมมาชีวศิลป เหล่านี้สวดมนนต์ อาราธนาศีล อาราชธนาธรรมได้ทุกคน ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ นักเรียนนี้ฝึกเจริญสมาธิ หัดกรรมอีกด้วย มีการเข้าวัดฟังธรรมตามโอกาส นิมนต์พระและเชิญอุบาสิกามาสอนศีลธรรมเป็นประจำ แต่ด้วยต้องกลับเข้ารับราชการในปี พ.ศ.๒๔๙๓ พระยาอมรฤทธิธำรง ได้สั่งการไว้กับลูกสาวคนโตคือ ฐะปะนีย์ ( ต่อมาได้เป็นกรรมการ พ.ศ. ๒๕๑๑ และประธานมูลนิธิฯ พ.ศ. ๒๕๒๗ ) ให้สละเวลาไปช่วยของมูลนิธิฯ
พ.ศ. ๒๔๙๕ พระตรีรณสาร เชิญไปเป็นผู้จัดการธนาคารเกษตรสาขาหาดใหญ่
ชีวิตครอบครัว พระยาอมรฤทธิธำรง สมรส กับคุณหญิงอมรฤทธิธำรง ( ตรี บุณยภักดิ์ ) เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นช่วงดำรงตำแหน่งเลขานุการมณฑล มีบุตรธิดา ๗ คน คือ ๑ ฐะปะนีย์ ๒ ธีระ ๓ วทัญญู ๔ ภูษณี ๕ อดิเรก ๖ เอกวิทย์ ๗ กิติยวดี
พระยาอมรฤทธิธำรง เคยเขียนจดหมายถึงลูกหญิงคนโต " พ่อนึกเห็นภาพลูกของพ่อสวมเสื้อครุย ถ่ายรูปหมู่ทั้ง ๗ คน โดยมีพ่อแม่นั่งอยู่กลางแถว " และหลายปีต่อมาภาพในจินตนาการก็เป็นจริง คือ
ฐะปะนีย์ สำเร็จ อ.บ. ป.ม. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโททางอักษรศาสตร์ ( M.A.) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา
ธีระ สำเร็จ ธ.บ. จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วทัญญู สำเร็จ ส.ถ.บ. จุฬา ( เกียรตินิยม )
M.A. ( สถาปัตยกรรม )มหาวิทยาลัยคอร์เนล M.A. ( การบริหารการศึกษา ) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ภูษณี
สำเร็จ ทันตแพทย์ศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อดิเรก สำเร็จ แพทย์ศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกวิทย์ สำเร็จ อ.บ. ค.บ. M.A. ( การประถมศึกษา ) จากมหาวิทยาลัยนอรทเทิน โคโลราโด และปริญญาเอก ( พัฒนาหลักสูตร ) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ
กิติวดี สำเร็จ อ.บ. ค.บ. M.A. มหาวิทยาลัยเวนย์
พระยาอมรฤทธิธำรง ระยะที่เป็นปัจฉิมวัย ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาและปฏิบัติธรรม เช่นตอนเช้าจะฟังธรรมของท่ายพุทธทาสภิขุ และนั่งสมาธิทั้งตอนเช้าและตอนค่ำ หมั่นเจริญมรณานุสติอยู่เสมอ
พ.ศ.๒๕๐๕ ได้ย้ายเข้ามาอยู่กับลูกๆ ในกรุงเทพฯ
พ.ศ. ๒๕๐๙ สุขภาพเริ่มทรุดโทรมลง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เพราะเกิด heart attack ต่อมาช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๐๙ มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น
ต่อมาวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๐๙ อาการป่วยกำเริบขึ้นอีก เวลาประมาณ ๒๓ น.เศษ พระยาอมรฤทธิธำรง ก็ได้สิ้นลมโดยสงบ ต่อหน้าภรรยาและบุตร รวมสิริอายุได้ ๗๔ ปี
พ.ศ. ๒๕๑๐ วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส .....................
แหล่งข้อมูล หนังสือ ๑๐๐ ปี อนุสรณ์ อมรฤทธิธำรง .......
--------------------------------------