พันเอก พระอร่ามรณชิต ( อ๊อด จุลานนท์ ) พันเอก พระอร่ามรณชิต ( อ๊อด จุลานนท์ ) เป็นบุตรคนแรกของ พันเอกพระยาวิเศษสิงหนาถ ( ยิ่ง จุลานนท์ ) และนางกลีบฯ เกิดวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2432 ที่บ้านเชิงสะพานแม้นศรี สามยอด กรุงเทพมหานคร มีพี่น้องร่วมบิดา คือ 1 นายพยัพ จุลานนท์ 2 นายพยงค์ จุลานนท์ พันเอก พระอร่ามรณชิต ได้เข้ารับการศึกษาที่วัดสระเกศฯ และวัดเบญจมบพิตรฯ ตามสภาวะของการศึกษาในสมัยนั้น ต่อมาได้เข้ารับการศึกษาที่ โรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นว่าที่ร้อยตรี วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2452 เป็นร้อยตรี วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2452 เป็นร้อยโท วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นร้อยเอก วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458 เป็นพันตรี วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2463 เป็นพันโท วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2467 เป็นพันเอก วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ได้รับพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษ ขณะที่โอนไปรับราชการทางฝ่ายพลเรือนแล้ว ทั้งนี้เพราะได้สนับสนุนทางด้านการติดต่อสื่อสาร ให้กับหน่วยทหารในราชการสงครามอินโดจีน และสงครามมหาเอเชียบูรพาโดยได้ปฏิบัติงานเป็นผลดียิ่ง เป็นขุนแก้วกำแหง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2459 เป็นหลวงอร่ามรณชิต เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561 เป็นพระอร่ามรณชิต เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามลำดับ ดังนี้ มงกุฎสยามชั้นที่ 5 ชื่อ วิจิตราภรณ์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก วันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2461 จตุรถาภรณ์มงกุฎไทย วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2465 จตุรถาภรณ์ช้างเผือก วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2466 เหรียญจักรมาลา วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2467 เหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2468 เหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ 4 วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 ตริตายาภรณ์มงกุฎไทย วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2480 ตริตาภรณ์ช้างเผือก วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2483 เหรียญชัยสมรภูมิสงครามอินโดจีน วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2486 เหรียญช่วยราชการสงครามมหาเอเชียบูรพา วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2487 ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2497 ประถมาภรณ์ช้างเผือก วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2500 มหาวชิรมงกุฎ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2503 พันเอก พระอร่ามรณชิต เป็นผู้มีความวิริยะอุตสาหะ ทั้งในด้านการศึกษาและในการปฏิบัติราชการ สนใจติดตามวิทยาการใหม่ๆอยู่เสมอ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ การทหาร การช่าง และที่สนใจเป็นพิเศษคือ การติดต่อสื่อสารทางวิทยุ โดยได้ติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการดังกล่าว ตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อย จนกระทั่งก่อนสิ้นอายุขัยประมาณ 5 ปี จึงได้หยุดการศึกษาค้นคว้า เนื่องจากสมองไม่สามารถรับได้ จากการศึกษาค้นคว้าดังกล่าวและการปฏิบัติงานอย่างทุ่มเททั้งทางร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย ทำให้เป็นผู้มีความรู้ก้าวหน้าและมีความสามารถ เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงาน ดังนั้นเมื่อเป็นผู้บังคับหน่วยทหารระดับผู้บังคับกองร้อยและผู้บังคับกองพัน ก็ต้องไปทำหน้าที่อาจารย์พิเศษในวิชาทหารช่างสนามและวิชาทหารช่างสัญญาณ ( การสื่อสาร ) ซึ่งเป็นวิชาใหม่ในสมัยนั้น ทั้งที่โรงเรียนนายร้อยและที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกด้วย เมื่อพลเอกพระบรมวงศ์เธอ พระองเจ้าบูรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ริเริ่มที่จะดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย ตามอารยธรรมแผนใหม่ ในฐานะที่ทรงผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารช่าง และสนพระทัยในผู้มีความรู้ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน จึงทรงคัดเลือกผู้ที่ทรงไว้วางพระทัยทั้งทหารบก ทหารเรือ และข้าราชการฝ่ายพลเรือนจัดตั้งเป็นคณะทำงานทั้งฝ่ายช่างและฝ่ายรายวิทยุกระจายเสียงขึ้น พันเอก พระอร่ามรณชิต เป็นผู้หนึ่งที่ทรงคัดเลือกเข้าอยู่ในคณะทำงานริเริ่มก่อตั้งกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยนี้ด้วย ด้วยความบากบั่นพากเพียรของคณะทำงาน โดยได้มีการประกอบเครื่องรับและเครื่องส่งวิทยุขึ้นเอง แล้วได้นำออกไปทดลองทำงานตามทุ่งนาป่าเขา ตามท้องถิ่นทุรกันดารทุกภาคของประเทศไทย งานก็ประสบความสำเร็จ สามารถออกอากาศได้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2471 กิจการได้เจริญรุดหน้าตามลำดับ จากหน่วยงานเล็กๆ จนกลายมาเป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข แล้วแยกส่วนวิทยุกระจายเสียงออกไปเป็น กรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนเป็นกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน จากนั้นกิจการวิทยุกระจายเสียงก็แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเห็นได้จากสถานีวิทยุกระจายเสียง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ด้วยความรู้ความสามารถและเป็นจักรกลตัวสำคัญ ในคณะผู้ริเริ่มก่อตั้งกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย ทำให้พันเอก พระอร่ามรณชิต ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2468 เมื่อได้ก่อตั้ง กรมไปรษณีย์โทรเลขขึ้น พันเอก พระอร่ามรณชิต ได้โอนไปรับราชการที่ กรมไปรษณีย์ โทรเลข ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้ เป็นนายช่าง กรมไปรษณีย์โทรเลข วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2471 เป็นนายช่างอำนวยการวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472 เป็นช่างกำกับการวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2473 เป็นช่างใหญ่ กรมไปรษณีย์โทรเลข วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2483 ในสมัยนั้น ข้าราชการที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะต้องออกจากราชการด้วยเหตุสูงอายุเพื่อรับบำนาญ แต่คณะรัฐมนครีได้มีมติอนุมัติต่อเวลาราชการให้ พันเอก พระอร่ามรณชิต ที่ละปีๆ จนถึงอายุครบ 60 ปี หลังจากนั้นก็ได้จ้างให้ทำงานในตำแหน่ง ผู้เชียวชาญทางการสื่อสารของกระทรวงคมนาคมต่อไปอีก 10 ปี จนสภาพทางร่างกายไม่อำนวยให้ทำงานต่อไปได้อีก ในระหว่างที่รับราชการทางฝ่ายพลเรือน พันเอก พระอร่ามรณชิต ก็ยังไปเป็นอาจารย์พิเศษ โรงเรียนนายร้อยเทคนิค ในวิชาการสื่อสารทางวิทยุ ได้ไปดูงานต่างประเทศ ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลในการประชุมเจรจาทางด้านการสื่อสารทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายครั้ง ทั้งในยามปกติและในยามสงคราม นอกจากนั้นก็ยังเป็นผู้ให้คำแนะนำในการก่อตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทั้งในฐานะผู้เชียวชาญทางด้านสื่อสาร และในฐานะอาจารย์กับศิษย์ พันเอก พระอร่ามรณชิต ได้สมรสกับนางอร่ามรณชิต( พิศ จุลานนท์ ) มีบุตร 8 คน คือ 1 นางทูนใจ นพคุณ 2 นายตระกูล จุลานนท์ 3 พันตำรวจเอก อุดม จุลานนท์
พันเอก พระอร่ามรณชิต เป็นผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาในรพระบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ได้ถือศีล 5 เป็นประจำมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย ตี่อมาเมื่อเจริญวัยขึ้นก็เพิ่มเป็นศีล 8 ในวันพระ ใส่บาตรและให้ทานแก่ผู้ยากไร้ทุกวัน จนถึงวันที่เจ็บหนักก่อนถึงแก่กรรม 3 วัน ทั้งไม่เคยขาดการทำบุญในวาระสำคัญๆ ในขณะที่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย และขณะที่มีหน้าที่ราชการรัดตัวนั้น ก็ได้ไปฟังธรรมอยู่เสมอ ครั้นเมื่อสูงวัยขึ้นก็ได้เพิ่มการปฏิบัติธรรมด้วยการทำ สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน งดบริโภคเนื้อสัตว์ ได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด จนถึงวาระสุดท้าย โดยปกติ พันเอก พระอร่ามรณชิต มีสุขภาพสมบูรณ์ มีร่างกายแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วยร้ายแรงแต่อย่างใด แม้เมื่อถึงคราวที่จะต้องล่วงลับ ก็ได้แสดงอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเพียง 2 วัน เมื่อมีอาการมากขึ้น นายแพทย์ธนิต เธียรธนู แพทย์ผู้ควบคุมดูแลสุขภาพอยู่เป็นประจำ ได้นำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ซึ่งก็ได้รับการเอาใจใส่ดูแลรักษาพยาบาลอย่างดียิ่ง แต่แล้วอาการก็ทรุดลง เข้าโรงพยาบาลเพียง 1 วัน ก็ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ เมื่อ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2522 รวมอายุได้ 90 ปี 2 เดือน กับ 21 วัน ...... แหล่งที่มา : ...................................................
|