ศาสตราจารย์กิตติคุณ หลวงปริญญาโยควิบูลย์ 
( ชม รามโกมุท )

 

วัน เดือน ปีเกิด     วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 บ้านสายรัดผประคต ( ตรงข้ามวัดเทพธิดา นอกกำแพงเมือง )
ตำบลสำราญราษฎร์ กทม.

วัน เดือน ปีที่ถึงแก่กรรมและสาเหตุที่ถึงแก่กรรม   
วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2534

ชื่อ – นามสกุล ของบิดา มารดา 
บิดาชื่อ ช่วง เป็นบุตรพระยารามรณรงค์สงคราม รามมีชัยไสวเวียง
( บัว รามโกมุท ) มารดาชื่อหงิม เป็นธิดาของขุนไล่พลรบ ( อิ่ม )

ชื่อ – นามสกุล ของพี่และน้องทุกคน
หลวงปริญญาโยควิบูลย์ เป็นบุตรชายคนโต มีพี่สาว 3 คน คือ นางสาวแช่ม รามโกมุท นางสอาด  ผลวัฒนะ   นางสาวเฉลิม รามโกมุท มีน้อง 3 คน คือ นายโชติ รามโกมุท นางสาว บุญชื่น รามโกมุท  นางบุญชุบ พิชัยรัฐ    

ชื่อ – นามสกุล ของภรรยา / บุตรทุกคน  
ได้สมรสกับนางสาวสังวาลย์  เพ็ชรพลาย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2471 มีบุตรธิดา 5 คน คื่อ นาง มยุรี สุขวิวัฒน์  ศาตราจารย์ ดร.ศรีปิญญา รามโกมุท  นางสาวนวลใย รามโกมุท นายสารวิบุล  รามโกมุท นางฆรณี สุรินทราบูรณ์  และมีบุตรบุญธรรม คือ นางสาวสมจิต รามโกมุท  หลังจากที่ภรรยาคุณสังวาลย์ ถึงแกกรรมได้สมรสกับคุณประนอม เลี้ยวกลับถิ่น ไม่มีบุตรด้วยกัน   

 

ประวัติการศึกษา

 

พ.ศ. 2447 เข้าโรงเรียนอนุกรมชยาคาร ( วัดสระเกษ )
พ.ศ. 2448 สอบได้ประถมศึกษา แล้วย้ายไปเข้าโรงเรียนมัธยมวัดสุทัศน์
พ.ศ. 2451 สอบได้ประโยคมัธยมสามัญ แล้วย้ายไปเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ เพื่อเรียนมัธยมพิเศษ ภาษาอังกฤษ
พ.ศ. 2453 ย้ายไปโรงเรียนสวนกุหลาบ และพ.ศ. 2455 ได้รับทุน KING'S SCHOLARSHIP
พ.ศ. 2456 เดินทางไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ในชั้นต้น ศึกษาชั่วคราวกับ Mr.Badcock เมื่อโรงเรียนเปิดเทอมเข้าศึกษาใน Public School ( คือเป็นโรงเรียนประจำแบบโรงเรียนวชิราวุธิวิทยาลัย ) ชื่อโรงเรียน Oundle ชั้น E5B2-Sc.Remove Sc.2 เพื่อเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์
พ.ศ. 2458 ศึกษาใน Kensington Coaching College กรุงลอนดอน กับ Mr.Payne-Payne แล้วเข้าเรียนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ณ City and Guild College. กรุงลอนดอน ในตอนสอบเข้าได้ Governor's Scholarship รับรางวัลปีละ 30 ปอนค์ เป็นเวลา 3 ปี และในปีเดียวกันนี้สอบได้ Matriculation in the First Division ( ซึ่งสามารถเข้าเรียนชั้นปี 2 ได้ทันทีถ้าต้องการ) ของมหาวิทยาลัยลอนดอน
พ.ศ. 2461 ได้ Diploma Associate of City and Guild Institute ในแผนกวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและได้ Unwin Scholarship รับรางวัล 12 ปอนค์
พ.ศ. 2462 ได้รับปริญญา B.Sc.( Eng ) of London University with Honours จากนั้นได้ไปฝึกภาคปฏิบัติการสำรวจแนวทางรถไฟระหว่าง Buscombe & Christchurch Stations. ในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน แล้วเปลี่ยนไปฝึกงานช่างกลที่ King's Cross Station ถึงเดือนพฤศจิกายน แล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อเข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวง

( ในช่วงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษนั้น คนไทยยังไม่มีการใช้นามสกุล นายชม จึงได้นำชื่อตัวของพระยารามรณรงค์สงคราม คือ บัว มาตั้งเป็นนามสกุลของตนเองว่า อุบล สะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า Oubon ต่อมาวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2456 ได้รับพระราชทานนามสกุลให้แก่ พระยามนูเนตรบรรหาร ( จีน ) ว่า " รามโกมุท " เขียนเป็นอักษรโรมัน ว่า Ramakomud )

 

ประวัติการรับราชการ

26 มกราคม พ.ศ.2462 เริ่มรับราชการตำแหน่งนายช่างผู้ช่วยอัตราเงินเดือน 300-20-400

26 เมษายน พ.ศ. 2463 เป็นนายช่างผู้ช่วยสำรวจและวางแนวทางรถไฟสายโคราช - วารินทณ์ ( อุบลราชธานี )

17 ธันวาคม พ.ศ. 2463 ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก
4 ธันวาคม พ.ศ. 2464 ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
1 มกราคม พ.ศ. 2465 ได้รับพระราขทานเบญจมาภรณ์ช้างเผือก

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 เป็นผู้ช่วยนายช่างทางรถไฟประจำกองแบบแผน และย้ายไปเป็นนายช่างบำรุงทางรถไฟแขวงทุ่งสง

10 ธันวาคม พ.ศ. 2465 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงปริญญาโยควิบูลย์

27 กันยายน พ.ศ. 2466 เป็นนายช่างบำรุงทางรถไฟแขวงชุมพร รับเงินเดือน 360 บาท

10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 ย้ายไปสังกัดกองทาง ควบคุมงานก่อสร้างทางหลวงภาคใต้ ประจำอยู่จังหวัดสงขลาประมาณ 2 เดือน แล้วย้ายไปอยู่จังหวัดปัตตานี

1 มกราคม พ.ศ. 2467 ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์ตรี เงินเดือน 380 บาท

1 เมษายน พ.ศ. 2468 เป็นนายช่างภาค ชั้น 2 รับเงินเดือน 400 บาท

20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ย้ายไปรับหน้าที่กำกับการสำรวจวางแนวทางหลวงจากอำเภอเบ ตงมายังจังหวัดยะลา

8 เมษายน พ.ศ. 2469 ได้รับพระราชทานจตุถาภรณ์มงกฎสยาม รับเงินเดือน 440 บาท

14 เมษายน พ.ศ. 2470 ย้ายประจำ ณ กองทาง กรุงเทพมหานคร

22 มีนาคม พ.ศ. 2471 เป็นผู้รักษาการตำแหน่งนายช่างเอก ( ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในกองทางสมัยนั้น )

31 มีนาคม พ.ศ. 2472 ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการรถไฟ การถนน และงานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ประเทศ อังกฤษ ผรั่งเศษ เบลเยี่ยม เยอรมัน เดนมาร์ค แคนาดา และสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 9 เดือน ในระหว่างนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู็แทนประเทศสยาม ไปร่วมประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องการถนน The Convention of the Canadian Good Roads Association ณ เมืองควีเบค ( Quebee ) ประเทศแคนาดา และ The Sixth Internation Road Congress ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี สหรัฐอเมริกา

1 เมษายน พ.ศ. 2473 ได้รับเงินเดือน 500 บาท หลังจากนั้นจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ระงับการขึ้นเงินเดือนเนื่องจากเศรษกิจตกต่ำ

1 เมษายน พ.ศ. 2474 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายช่างทาง ชั้น 1 พ.ศ. 2475

16 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ลาออกจากราชการ รับบำนาญประเภททดแทน เมื่ออายุ 36 ปี 10 วัน รวมเวลาราชการทั้งสิ้นเพียง 13 ปีเศษเท่านั้น

การเป็นอาจารย์พิเศษและนักวิชาการ

เมื่อหลวงปริญญาโยควิบูลย์ ลาออกจากราชการ ม.จ. รัฐฎาภิเษก โสณกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาแม่เหล็กไฟฟ้า ให้แก่นิสิตในคณะวิทยาศาสตร์ เตรียมแพทย์ และเตรียมวิศวกรรม และัได้ไปสอนวิชาคำนวนกำลังในการก่อสร้างอาคารที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย นอกจากนั้นได้ไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้แก่คณะอักษรศาสตร์ วิชาปรัชญาแก่คณะครุศาสตร์ ต่อมาเมื่อมีอายุสูงขึ้นจึงลดการสอนคณะอื่นๆ คงสอนเพียงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งเดียวจนถึงพ.ศ. 2521 หลังจากที่หลวงปริญญาโยควิบูลย์ ได้เป็นอาจารย์พิเศษให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 25 ปี จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2501

5 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานจตุถาภรณ์ช้างเผือก หลังจากออกจากราชการมาแล้ว 38 ปีเศษ

และเมื่อได้ทำการสอนมาเป็นเวลาถึง 40 ปี ในปี พ.ศ. 2517 สภามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงคุณงามความดี และการเสียสละของท่าน จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ให้ ขณะนั้นท่านมีอายุ 77 ปี

การประกอบธุรกิจส่วนตัว

เมื่อลาออกจากราชการและรับงานสอนพิเศษดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ท่านจึงได้ใช้ความรู้และประสยการณ์ เปิดร้านต้าขายวัสดุก่อสร้าง และตั้งโรงงานทำกระเบื้องมุงหลังคาซีเมนต์ แบบลอนคู่ลูกฟูกและ กระเบื้องหางตัด สำหรับมุงหลังคาบ้าน ส่วนสำหรับมุงหลังคาโบสถ์ และกุฏินั้นก็ได้ทำกระเบื้องหางมน เรียกกันว่า " กระเบื้องวิบูลย์ศรี " นับว่าเป็นโรงงานกระเบื้องแห่งเดียวในยุคนั้นที่เป็นของคนไทย และใช้คนไทยทั้งหมด ในงานแสดงอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2479 กระเบื้องวิบูลย์ศรีได้รับรางวัลที่ 1 เหรียญทอง

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้ถูกเสก็ดระเบิด เข้าโรงพยาบาลรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน ทำให้ขาขวางอไม่ได้

พ.ศ. 2506 ได้ทำสวนทุเรียนและเงาะ ที่จังหวัดปราจินบุรี ให้ชื่อว่า " สวนปริญญา " ในปี พ.ศ. 2508 และ พ.ศ. 2509 ทุเรียนและเงาะในสวนก็ได้รับรางวัลที่ 1 ทั้งสองครั่้ง

การเป็นพุทธมามกะและสร้างโรงเรียนมีชชินนารีแบบพุทธ

หลวงปริญญาโยควิบูลย์ ได้รับการอบรมในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจากบิดาผู้ซึ่งเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา เมื่ออ่านหนังสือออก บิดาท่านก็ได้หาหนังสือธรรมมาให้อ่าน จึงทำให้มีความสนใจในพุทธศาสนามาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อสำเร็จการศึกษาและเข้ารับราชการ ได้ถูกส่งไปทำงานในต่างจังหวัดเป็นเวลาหลายปี ต่อเมื่อย้ายเข้ามาปฏิบัติหน้าทีในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2471 ท่านจึงได้ขอลาอุปสมบทในช่วงเข้าพรรษา ของปีนั้น ณ วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( เจริญ ) เจ้าอาวาสเป็นอุปัชฌาย์ ได้เรียนธรรมะและกรรมฐานกับสมเด็จอุปชฌาย์ เมื่อลาสิกขาบทมาแล้ว ก็ได้เรียนการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์ อีกหลายท่าน อาทิ สมเด็จพระสังฆราช ( แพ ) วัดสุทัศน์ ท่านอาจารย์ สุก (พระภาวนาพิจารณ์ ) วัดระฆังโฆสิตาราม ท่านภัททันตะอุวิลาสะ วัดปรกพม่า และพระอาจารย์โฮม ( ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชมุนี ) วัดปทุมวนาราม เป็นต้น

หลวงปริญญาโยควิบูลย์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่สมัยต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การบรรยายของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือการร่วมสนทนาธรรม การเป็นตัวแทนของสมาคมไปพบกับเจ้าห้าที่ของพระพุทธศาสนสภาแห่งสหพันธ์รัฐพม่า เนื่องในการหารือเพื่อคำเนินงานฉัฐสังคายนาเมื่อ พ.ศ. 2496 และเมื่อ พ.ศ.2497 ท่านได้เป็นผู้แทนพุทธสมาคมแห่งประเทศฯ ในคณะผู้แทนของศูนย์ภาคีแห่งประเทศไทย ไปเข้าร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งที่ 3 ณ สหพันธรัฐพม่าอีกด้วย

ท่านได้พยายามเผยแพร่ ความรู้ด้านนี้ให้แก่ครู นิสิตนักศึกษา และบุคคลผู้สนใจ ได้รับเชิญบรรยายธรรมะในที่ต่างๆ เช่น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือ " คนเราตายแล้วเกิดหรือไม่ " )ที่สยามสมาคมและพุทธสมาคม เป็นต้น

นอกจากนั้นท่านยังได้บรรยายธรรมะทางสถานีวิทยุเสียงยานเกราะทุกวันพฤหัสบดีเวลา 17.00 น. เป็นประจำจนกระทั่งอายุได้ 80 ปีเศษ

 

งานสำคัญที่สุดของท่านได้แก่การจัดตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิและโรงเรียนสัมมาชีวศิลป จากที่ท่านสนใจในเรื่องการศึกษาของเยาวชนในประเทศอังกฤษ เมื่อท่านได้ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ จึงมีโอกาสเปิดร้านอิสสระสถาน ขายวิทยุเครื่องแร่และหนังสือ แต่งตำราสอนภาษาอังกฤษร่วมกับพระปวโรฬารวิทยา ( ป่อ ) ผู้เป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบและสมัยที่ไปเรียนที่อังกฤษด้วยกัน ด้วยในความเห็นของท่านว่าการให้การศึกษาจะต้องเน้นศีลธรรม ( ในเชิงปฏบัติ ) และการประกอบอาชีพอีกด้วย จึงจะนับว่าเ ป็นการศึกษาที่สมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ.2491 ท่านจึงได้ชักชวนเพื่อนๆ อีก 4 ท่าน ได้แก่พระยาอมรฤทธิ์ธำรง พ.อ.พระสงครามภักดี พระปวโรฬารวิทยา พ.อ.พระอร่ามรณชิต จัดตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิขึ้น เพื่อจัดตั้งโรงเรียนในลักษณะของโรงเรียนมิชชันนารีแบบพุทธ ตัวท่านเองก็ได้บริจาคทั้งทรัพย์และที่ดินให้แก่มูลนิธิ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ระยะแรกเปิดสอนเฉพาะอนุบาลและขยายเป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ซอยพญานาค กรุงเทพฯ และต่อมามูลนิธิก็ซื้อที่ดินใกลอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี จัดตั้งโรงเรียนมัธยมสัมมาชีวศิลป บางพระ เปิดสอนถึงมัธยม 3 ดังปัจจุบัน

หลวงปริญญาโยควิบูลย์ ได้อุทิศกำลังกาย กำลังสติปัญญาให้แก่สัมมาชีวศิลปมูลนิธิและโรงเรียนทั้งสองแห่ง จนกระทั่งอายุ 80 ปีเศษ จงค่อย ๆ ลดงานลง ในที่สุดเมื่อท่านชราภาพลงมากแล้ว ในปี พ.ศ. 2431 ขณะที่อายุได้ 91 ปี จึงได้วางมือ รวมระยะเวลาที่ท่านได้ดูแลเป็นเวลาติดต่อกันถึง 40 กว่าปี

หลวงปริญญาโยควิบูลย์ เป็นผู้ยึดมั่นในหลักการ ยึดเหตุผลความถูกต้องมากกว่าความรู้สึกส่วนตัว คือ การที่จะได้เห็นองค์กรที่มีบุคลากรที่เสียสละและเป็นมิชชันนารีชาวพุทธ สร้างเยาวชนเป็นผู้ยึดมั่นในธรรม มีความสามารถในการใช้สติปัญญาและมีอาชีพที่มั่นคงในการดำรงชีวิต ท่านมิได้เป็นเพียงแต่นักฝัน แต่เป็นผู้ที่มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสำเร็จตามจุดหมุ่หมายที่หวังไว้

ใน 3 ปี สุดท้ายของชีวิตท่านไปใหนไม่ไหว การรับรู้ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งปีสุดท้ายท่านพูดน้อยมาก และแทบจะไม่รู้ว่าท่านพูดอะไร เมื่อ 2 - 3 สัปดาห์ บุตรชายนายสารวิบุล ฯ ได้ชวนท่านสวดมนต์บทพระพุทธคุณ ( องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ ) ท่านก็ได้ร่วมสวดด้วยเสียงอันดังกว่าปกติมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้ประสาทจะเสื่อมถอยลงมาก แต่ในด้านปฏิบัติธรรมแล้ว จิตใจท่านยังคงมั่นใม่เสื่อมคลาย......

ในที่สุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 เวลา บ่ายโมงเศษ หลังจากดำรงชีวิตเป็นเวลา 94 ปี 7 วันท่านก็ได้จากไปด้วยอาการสงบ

ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 จึงกำหนดพิธีพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์  ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

กรณีตัวอย่างประกอบจากผู้ใกล้ชิด ผู้ร่วมงาน หรือศิษย 


                      เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2512 คุณ สด กูรมะโรหิต นักประพันธ์เรืองนามเจ้าของ
“ ไรแผ่นดินไทย” ได้เขียนการสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์  เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง ตลอดเวลาอันยาวนาน จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายปลายทางของการสร้างกุศลให้แก่ชาติและโลกที่ยังขาดแคลนการศึกษา ตลอดการให้การศึกษาอบรมแก่เด็กโดยยึดเอาพระพุทธศาสนาเป็นแกน ไม่ค้ากำไร มีแต่สละกำลังกาย กำลังทรัพย์และกำลังความคิดทำการบริจาคโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อการศึกษาอบรมเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองดีของชาติในอนาคต

                  ศาสตราจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์  ได้เล่าว่าท่านได้ไปเรียนอยู่ในปับลิคสกูลในประเทศอังกฤษ..... ซึ่งเป็นไปรเวทสกูล หรือโรงเรียนราษฏร..... ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อการกุศล ไม่ตั้งเพื่อค้ากำไรอย่างโรงเรียนในประเทศไทย ท่านจึงเห็นว่าเราน่าจะมีโรงเรียนปับลิคสกูล อย่างเขาบ้าง และต้องเป็นองค์การกุศลที่จะตั้งขึ้นก็ต้องเป็นรูปมูลนิธิเท่านั้น โดยมุ่งว่า การศึกษาต้องมีพระพุทธศาสนาเป็นแกนคือ มรรคมีองค์ประกอบ 8 ประการ ท่านเห็นว่า สัมมาอาชีพเป็นจุดเริ่มต้น......ฉะนั้นควรยึดเอาสัมมาอาชีพเป็นองค์เริ่มต้นของการศึกษา  คือจะทำคนให้เป็นคนดีของสังคม ส่วนอื่นเป็นเพียงส่วนเข้ามาประกอบ จึงได้กำหนดปรัชญาของโรงเรียน.... คือ “ ศีลธรรม  ปัญญา  อาชีพ ”   ผู้ได้รับการศึกษาต้องเป็นผู้มีศีลธรรม มีปัญญา มีแต่ความรู้ ถ้าขาดศีลธรรมก็ไม่ดี จะเป็นคนโกงเบียดเบียนคนอื่นได้มาก เราจะปล่อยให้คนฉลาดแต่ขาดศีลธรรมไม่ได้ มีปัญญาแล้วละเลยเกียจคร้านไม่นำไปใช้ประโยชน์ หรือรู้แต่ทฤษฎี ไม่นำไปประกอบอาชีพก็ไม่ดี  นี่เป็นหลักเริ่มต้นที่มุ่งหวัง............. ศีลธรรมเป็นหลักใหญ่ จึงใช้คำว่า “ สัมมา ” นำหน้า และมุ่งให้นักเรียนมีความรู้ไปประกอบอาชีพได้  จึงใช้คำว่า “ อาชีว ”  แล้วต่อท้ายด้วย “ ศิลป ”  เพราะต้องมีศิลปะในการประกอบอาชีพด้วย

 

    หนังสืออนุสรณ์ เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ หลวงปริญญาโยควิบูลย์ (ชม อุบล รามโกมุท) 23 ก.ค.2534  ท่านปัญญานันทภิกขุ ( ขณะนั้นเป็นพระเทพวิสุทธิเมธี ) ได้กล่าวว่า คุณหลวงปริญญา ฯ เป็นอมตชน  คนไม่ตาย  ข้อความว่า คุณหลวงปริญญาเป็นผู้เกิดมาเพื่อไม่ตาย แต่ร่างกายเป็นส่วนที่เกิดจากการปรุงแต่งของธาตุทั้งปวง เมื่อส่วนผสมยังพร้อมเพรียงกัน ร่างกายก็ยังไม่ตาย แต่เมื่อใดมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ก็ต้องตายเป็นธรรมดา  ร่างกายของคุณหลวงแตกสลายไปแล้ว แต่คุณหลวงก็ยังเป็นอมตชน เป็นคนไม่ตาย

     ไม่ตายอย่างไร  ?   คุณหลวงเป็นคนมีอุดมการณ์ในการศึกษาของชาติ ท่านเห็นว่าการให้ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีวิชาชีพด้วย มีวิชาชีพแล้วก็ยังไม่พอ ต้องอบรมเขาให้มีคุณธรรม ด้วยถือหลักว่าความรู้คู่คุณธรรม  ท่านต่อสู้เรื่องนี้มาตลอดเวลา ตัวท่านเองเป็นคนมีภูมิธรรมสูง ไม่เพียงแต่เป็นนักศึกษาเท่านั้น แต่เป็นผู้ปฎิบัติด้วย ชีวิตของท่านเป็นชีวิตที่มีความสงบสมชื่อจริงๆ 

     ท่านได้รับความสุขจากธรรมะแล้ว ก็อยากให้เยาวชนของชาติเป็นคนมีคุณธรรมด้วย การที่จะให้เยาวชนของชาติมีคุณธรรม ก็ต้องทำตามคำโบราณว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย  ไม้แก่ดัดยาก" จึงต้องอบรมเด็กให้มีความเข้าใจ มีความเห็นชอบตั้งแต่เบื้องต้น จึงได้เปิดโรงเรียนสัมมาชีวศิลป และก่อตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิขึ้น เพื่อเป็นฐานของกิจการส่วนนี้ งานนี้เป็นงานสำคัญในชีวิตของท่านได้ทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้งานนี้เจริญก้าวหน้า กิจกรรมของโรงเรียนนี้ จึงเป็นเหมือนวิญญาณของคุณหลวงปริญญาโยควิบูลย ์ซึ่งยังอยู่คู่ชาติตลอดไป ขอให้พวกเราทั้งหลายช่วยสืบวิญญาณของท่านให้อยู่ตลอดไปเถิด.

 

ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เขียนว่าหลวงปริญญาโยควิบูลย์ เป็นท่านผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถืออย่างยิ่งท่านหนึ่ง ..... งานของคุณหลวงท่านงานหนึ่งซึ่งผมเห็นว่า เป็นการกุศล อย่างยิ่ง คือ จัดตั้งโรงเรียนสัมมาชีวศิลปโดยให้เป็นของมูลนิธิ ไม่ใช่ส่วนตัว ผมเข้าไปร่วมงานกับท่านตอนนี้โดยมีท่านผู้ใหญ่ร่วมด้วยอีกหลายท่าน ....... หลวงปริญญา ท่านตั้งอธิษฐานจิตจะปลูกฝังลูกหลานเราให้รู้จักพระรู้จักเจ้า และรู้จักหลักธรรมในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเล็กๆ ท่านจะสำเร็จปณิธานปราถนาหรือไม่ ผมไม่ทราบแน่ แต่ลูกผมคนหนึ่งที่ผมส่งไปเข้าเรียนในโรงเรียนสัมมาชีวศิลปตั้งแต่ตัวเล็กๆ อ่านหนังสือไม่ออก จนโตขึ้นที่นั่นได้รู้จักพระรู้จักเจ้าและรู้จักธรรมะที่จำเป็นแก่ชีวิต จนสอบเป็นแพทย์ได้ เด็กคนนี้เป็นผลงานของคุณหลวงปริญญาคนหนึ่ง........

นางมยุรี สุขวิวัฒน์ บุตรคนโต ได้เขียนเรื่อง " แนวคิดในเรื่องการจัดการศึกษาฯ" ว่า

คนส่วนใหญ่จะถือว่าคุณพ่อเป็นวิศวกร แต่ในสายตาของผู้เขียนแล้ว คุณพ่อดูจะเป็น " นักการศึกษา" มากกว่า สิ่งที่คุณพ่อต้องถามตัวเองก็คือ " การศึกษาคืออะไร" มีจุดอะไรที่มุ่งหวังและแค่ไหนจึงจะสมบูรณ์ คุณพ่อรู้ว่าการศึกษาไม่ใช่การสอนให้รู้หนังสือ ไม่ใช่การอ่านออก เขียนได้เท่านั้น คุณพ่อประทับใจข้อเขียนของศาสตราจารย์ฮักซ์เล ( PROFESSOR HUXLEY ) ที่บรรยายถึงลักษณะของผู้มีการศึกษาว่า เป็นผู้ที่ได้รับการอบรมในเยาว์วัย จิตใจนั้นเปี่ยมไปด้วยความรู้ในมูลรากความจริงแห่งธรรมชาติ และอารมณ์ของเขาเล่า ก็ได้ถูกฝึกฝนให้อยู่ภายใต้ความควบคุมของสคิ ... มีการฝึกฝนกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในระเบียบอันดีงาม ให้รู้จักความสุจริต เกลียดชังความทุจริตทั้งมวล และรู้จักเคารพผู้อื่น เช่นเดียวกับเคารพตน จึงยอมรับนับว่าเป็นผู้มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง ( LIBERAL EDUCATION )

คุณพ่อคิดว่าการพัฒนาด้านการศึกษาจะต้องทำทั้งสามด้าน คือ 1 คุณธรรม ด้วยการฝึกอมรมจิตใจ 2 ปัญญา ก็ด้วยการฝึกสมอง ให้รู้จักเหตุผล และ3 อาชีพ คือฝึกสังเกต มีปฏิภาณ ไหวพริบ ฝึกมือให้ชำนาญ


       คุณสารวิบุล รามโกมุท
บุตรชาย บรรยายไว้ในวันสัมมนาโรงเรียนฯ เมื่อ ปี 2539

เรื่องความศรัทธา และผลงานของคุณหลวงปริญญาโยควิบูลย์  ว่าคุณหลวงปริญญาเป็น 1 ใน 5 ท่านที่ร่วมกันก่อตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิและโรงเรียงสัมมาชีวศิลปท่านเป็นครูคนแรกของผม ให้แง่ความคิดเรื่องการศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 ท่านเห็นว่าการอ่านออก เขียนได้ การจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ในสมัยนั้น  ยังไม่ใช่เป็นการศึกษาที่ถูกต้องสมบูรณ์ ท่านยกเอาความปกพร่องของการศึกษาเรื่องแรกก็คือ ความไม่มีระเบียบวินัย ก็เห็นได้ในที่ทั่ว ๆไปของประชาชนจากภาพ ขึ้นรถ ลงเรือ หรือ แม้แต่การเข้าวัดฟังธรรมในทางพุทธศาสนาเองก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในมงคลสูตร์ที่ว่า

"พาหุสจจญจ สิปปญ  วินโย   สุสิกขิโต สุภาสิตา  ยา วาจา  เอตมมงคลมุตตม "

                    ความได้สดับมาก               และกำหนดสุวาที

               อีกศิลปศาสตร์มี                     จะประกอบมนุญการ

               อีกหนึ่ง วินัย อัน                     นรเรียนและเชี่ยวชาญ

               อีกคำเพราะบรรณสาร              ฤดิแห่งประชาชน

               ทั้งสี่ประการล้วน                    จะประสิทธิมนุญผล

              ข้อนี้แหละมงคล                     อดิเรกอุดมดี  ( คำฉันท์ - พระราชนิพนธ์ ร.6 )

      จึงจะกล่าวว่าระเบียบวินัย ยังไม่ล้าสมัย ยังมีความจำเป็น คุณหลวงปริญญาฯ ได้มีการทำให้เป็นเพลงสำหรับเด็กมาร้องกันแต่เสียดายไม่มีการบันทึกเทปไว้จึงหายไป

     ได้มีการตั้งคติพจน์ที่ว่า ศีลธรรม ปัญญา อาชีพ ท่านเริ่มจากว่า อตตา หิ อตตโน นาโถ "ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน"  ศีลธรรม ปัญญา อาชีพ ตอนหลังท่านเพิ่มสุขภาพอนามัยเข้าไปด้วย

     สมคคาน ตโป สุโข    ความขยันของหมู่คณะที่พร้อมเพรียงกันนำมาซึ่งความสุข

     วิริเยน ทุกขม เจติ       บุคคลจะพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร

สมัยที่โรงเรียนยังเป็นเรือนไม้จะมีคำกล่าวนี้ ติดตามฝาผนังแต่เดียวนี้ไม่มีแล้ว จึงเหลือเพียง ศีลธรรม ปัญญา อาชีพ

     ท่านได้กล่าวว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษานั้น หากเราอยากจะรู้ว่าใครมีการศึกษาสูงหรือต่ำให้ดูที่กิเลสตัณหาที่เขาแสดงออก    ถ้าเขามีความต้องการ กิเลสมาก แสดงว่ามีการศึกษาต่ำ หากแสดงออกน้อยก็สูงหน่อย

     ดังนั้นการศึกษาทางพุทธศาสนา มีวินัยกับธรรมะ หรือธรรมวินัย พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นศาสดาแทนพระองค์ นั้นก็คือ ศีลธรรม  พระมีศีล 227 ธรรมะมีถึง 84,000 หัวข้อด้วยกัน สำหรับพวกเราก็ให้มีเบญจศีล  เบญจธรรม  ก็พอแล้วตามที่ท่านประธานได้กล่าวไว้แล้ว

     ท่านเล่าว่าเคยมีเด็กของสัมมาชีวศิลปไปสอนพ่อแม่ไม่ให้ตบยุงก็มี บอกว่าครูสอนมา หรือร้องให้เมื่อทำผิดเพราะกลัวบาป

     การตั้งโรงเรียน  ท่านได้ขายที่ ที่ปากเกร็ดมาซื้อที่ซอยพญานาค  แต่ด้วยเห็นว่า การสอนเด็กชนบทจะสอนง่ายกว่าเด็กในกรุง จึงแบ่งเงินไปซื้อที่จังหวัดชลบุรีอีกแห่งหนึ่ง โรงเรียนได้เกิดขึ้นหลังจากมูลนิธิตั้งขึ้น 2 ปี คือวันที่ 7 ตุลาคม 2494 สมเด็จสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์  เป็นผู้เปิดป้ายโรงเรียนครั้งแรก มีนักเรียน 6 คน

     คุณหลวงท่านต้องดูแลเด็กเอง แต่งตัวให้ ท่านสัมมนาครูเอง จึงมีการเน้นว่าครูที่จะมาอยู่ต้องเป็น พุทธมามกะ ท่านใช้คำว่าต้องเป็นมิชชั่นนารีของชาวพุทธ ซึ่งเป็นชื่อแปลก ๆ ตอนหลังเรามาได้คำว่าควรใช้คำว่า พุทธมามกะ มีการสอนพุทธศาสนาให้แก่ครู ต้องสวดมนต์เป็น สอนบัญชีด้วย

      ท่านกำหนดให้มีการสอนพระพุทธศาสนานำหน้า  อาจจะได้มาจากหนังสือต่างประเทศชาวเดนมาร์ก  ซึ่งหากใครสอบวิชาศาสนาตกก็จะตกวิชาอื่น ๆ ด้วย ท่านจึงเอามาเป็นหลักของสัมมาชีวศิลป ให้มีแม่ชีมาสอนและมุ่งหมายการสอนเด็กชนบทมาก แม้แต่ท่านอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.โกวิท   วรพิพัฒน์ ยังพูดถึงอุทยานการศึกษา ( ซึ่งโรงเรียนบางพระน่าจะทำได้ ปีนี้ก็มีอายุ 22 ปีแล้ว ) จึงฝากให้ช่วยกันคิดให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาศีลธรรม ปัญญา อาชีพ ให้เป็นการศึกษาครบวงจร

     ท่านเคยอยากให้มีการสอนอาชีพ แบบโพลีเทคนิค คือ ให้เด็กสามารถ แก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อยๆ ในบ้านของตัวเองได้ ซึ่งปัจจุบันหาช่างซ่อมแซมอุปกรณ์ ไฟฟ้า ประปา หรือประตูหน้าต่างๆ ลำบาก หากทุกคนทำเองได้ก็จะแบ่งเบาความเดือดร้อนได้บ้าง

     คุณหลวงปริญญาฯ เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2440 และถึงแก่กรรมเมื่อ 13 พฤษภาคม 2534 รวมอายุ 94 ปี ท่านได้ดูแลสัมมาชีวศิลปจนอายุท่าน 85 ปี

 

     คุณ สารวิบุล รามโกมุท บุตรชาย ได้บรรยายต่ออีกว่้า ผมในฐานะเป็นทายาทเพื่อให้ท่านได้อยู่ตลอดไป จึงได้เข้ามาช่วยกันดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้และผมขอนำเอาคำปรารภของคุณหลวงปริญญาฯในครั้งที่คณะกรรมการอำนวยการและครูของสัมมาชีวศิลป ได้ไปอวยพรวันขึ้นปีใหม่ เดือนธันวาคม 2531 ท่านได้กล่าวไว้ดังนี้

     ท่านประธานกรรมการ คณะกรรมการมูลนิธิ ครูและนักเรียนโรงเรียนสัมมาชีวศิลป  ผมมีอายุ 91 ปีแล้ว เรื่องที่ผมอยากจะกล่าว ผมขอฝากสัมมาชีวศิลปให้ท่านได้ช่วยดูแล   และสร้างความเจริญมั่นคงให้กับสถาบันแห่งนี้ ให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่ผมและผู้ก่อตั้งฝันไว้

 

       ศาสตราจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์  ได้เขียนหนังสือทั้งเรื่องพุทธศาสนาและการศึกษาไว้มากมายหลายเรื่องดังเช่น  หลักพระพุทธศาสนาโดยย่อ ( Concise Principles of Buddhism ) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่หม่อมเจ้าหญิง พูนพิศสมัย ดิศสกุล อุปนายก พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เขียนไว้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2500 ว่า เมื่อข้าพเจ้าได้รับพระราชทานรางวัลเรื่องแต่งหนังสือศาสนคุณแล้ว ได้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษออกแจกเพื่อนฝูงชาวต่างประเทศ แทบทุกคนที่อ่านแล้วมาขอให้ข้าพเจ้าเขียนต่อสำหรับพวกผู้ใหญ่ เพราะความมุ่หมายในหนังสือศาสนคุณนั้น เพียงจะสอนให้เด็กอายุ 10 ขวบเข้าใจ ผู้อ่านเกิดศรัทธาแล้วก็อยากรู้ต่อไปถึงธรรมะขั้นสูงๆ  .......  ครั้นได้มาอ่านหนังสือ หลักพระพุทธศาสนาโดยย่อ ของคุณหลวงปริญญาโยควิบูลย์เล่มนี้แล้ว จึงลงความเห็นว่าข้าพเจ้าไม่ต้องเขียนอีกแล้ว และถึงแม้จะเขียนได้ก็จะไม่ดีถึงเท่านี้ เพราะคุณหลวงฯ ได้หยิบยกเอาหัวข้อสำคัญในพระพุทธศาสนา มาตอบไว้ครบถ้วนแล้วทุกประการ ผู้อ่านจะได้รู้ทั้งจากพระสูตร พระวินัย และพระปรมัตถ์ รวมทั้งตอบปัญหาชาวต่างประเทศ ซึ่งโดยมากชอบถามปัญหาเหล่านี้ คือ
              1. พระพุทธศาสนาเป็นเรลิจันหรือเป็นปรัชญา
?
          
    2. อะไรเป็นจุดมุ่งสูงสุดของพระพุทธศาสนา ?
             3.
พระพุทธเจ้ามีองค์เดียวหรือ ?
             4. อะไรกลับมาเกิด
?
              5. พระพุทธศาสนาผิดกับศาสนาอื่นอย่างไร ?
      คุณหลวงปริญญาฯ ได้ตอบปัญหา 5 ข้อนี้ได้โดยหมดข้อสงสัย
……ข้าพเจ้าไม่เคยนึกว่าใครจะสามารถอธิบายเรื่องฌานให้เข้าใจได้ในหนังสือเพียง 40 หน้า เช่นในหนังสือเล่มนี้   

 

      รายชื่อหนังสือที่ศาสตราจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์  ได้เขียน เช่น

         การศึกษาที่สมบูรณ์,  หลักพระพุทธศาสนาโดยย่อ,  คนเราตายแล้วเกิดอีกหรือไม่  จริยธรรมกับการศึกษา  ชุดเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง มี 3 เล่ม  (  ร่วมกันเขียนโดยหลวงปริญญาโยควิบูลย์ และพระปวโรฬารวิทยา )   ฯลฯ  

 

 

                            ................................................................................