เสวนา "จังหวะก้าวโรงเรียนวิถีพุทธ"
เพื่อพลิกฟื้นสังคมไทยให้เจริญอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ทางโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประสานงานร่วมกับ โรงเรียนทอสี ได้จัดให้มีการพูดคุยเสวนาถึงจังหวะก้าวโรงเรียนวิถีพุทธ
ในวงสนทนาเล็ก ๆ โดยได้รับความเมตตาอย่างสูงยิ่งจาก พระอาจารย์ชยสาโร
ภิกฺขุ เป็นองค์ประธานนำการเสวนา และมีตัวแทนโรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบและผู้ใหญ่หลายท่านให้ความสนใจมาร่วมวงเสวนาในครั้งนี้ด้วย
อาทิ รศ.บุญนำ ทานสัมฤทธิ์ อดีตที่ปรึกษา รมช.
กระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงก่อตั้งโครงการฯ ดร.วันทยา
วงศ์ศิลปภิรมย์ นางลัดดาวัลย์ แก้วสว่าง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองบัว
ทีมผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลหนูน้อย และโรงเรียนทอสี
ในวงการเสวนา ดร.บรรเจอดพร รัตนพันธุ์
ผู้ประสานงานโครงการฯ ได้สรุปแสดงความคืบหน้าโครงการโรงเรียนวิถีพุทธว่ามียอดโรงเรียนที่สมัครในปัจจุบันที่ประมาณ
๑๔,๐๐๐ โรงเรียน คิดเป็นประมาณ ๕๐ % ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมด
และที่ผ่านมาทางกระทรวงได้จัดให้มี การประชุมและนิทรรศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนแกนนำ-นำร่องโรงเรียนวิถีพุทธระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น
๖ พื้นที่ ซึ่งก็ได้ดำเนินการครบทั้ง ๖ ภูมิภาค ๑๗๕ เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศแล้ว
โดยได้ร้องขอให้พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส วิทยากรและที่ปรึกษาโครงการฯ
ที่ได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมดังกล่าวเกือบทุกครั้ง แสดงความคิดเห็นที่สะท้อนถึงพัฒนาการโรงเรียนที่สมัครเข้าโครงการ
ซึ่งท่านได้แสดงความพึงพอใจว่าโรงเรียนแกนนำ-นำร่องต่าง ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นตัวแทนของเขต ที่มานำเสนอ สามารถดำเนินการได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
มีพัฒนาการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เดิมที่แก้ไขได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพฤติกรรมของเด็กนักเรียน
และครู แต่เมื่อโรงเรียนสมัครเข้าโครงการฯ และได้ดำเนินการไปตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้
ก็สามารถทำให้โรงเรียนเกิดการเรียนรู้ปรับประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพการณ์ของตน
ๆ แล้วทำให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปได้ พฤติกรรมทั้งของครูและนักเรียนมีการปรับปรุงพัฒนาดีขึ้น
รวมทั้งเรื่องการเรียนก็ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ ท่านยังได้ยกตัวอย่างโรงเรียนที่ดำเนินการได้ผลดีจนโดดเด่นมีเอกลักษณ์เป็นที่น่าสนใจ
ซึ่งมักจะมีพัฒนาการกระบวนการเรียนรู้แบบวิถีพุทธออกสู่ครอบครัวและชุมชนได้อย่างดี
ซึ่งท่านได้ร้องขอให้ทางกระทรวงให้ความสำคัญกับโรงเรียนที่มีพัฒนาการไปถึงครอบครัวและชุมชนเป็นพิเศษ
ท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า มากกว่าตัวรายละเอียดของกิจกรรมที่ปฏิบัติกันของที่แต่ละโรงเรียนนำเสนอนั้น
ท่านได้สัมผัสถึง การแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในงานที่ทำ ในการที่พวกเขาแก้ปัญหาได้โดยใช้หลักพุทธธรรม
พวกเขาจึงรู้สึกภูมิใจในงานที่ทำ ท่านแสดงความเห็นว่าโครงการโรงเรียนวิถีพุทธประสบความสำเร็จในแง่ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของงาน
รักและพร้อมที่จะคิดสร้างสรรค์พัฒนางานของตนเองต่อไปได้อย่างภาคภูมิใจ
และมีความสุข แต่อย่างไรก็ตามท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวแทนโรงเรียนที่มานำเสนอนั้นเป็นเพียง
๑ เปอร์เซนต์ของโรงเรียนที่สมัครเข้าโครงการทั้งหมด ซึ่งก็คงต้องมาช่วยกันคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรที่จะส่งต่อกระบวนการเรียนรู้อย่างมีพัฒนาการในโรงเรียนแกนนำเหล่านี้ออกไปสู่อีก
๙๙ เปอร์เซนต์ที่เหลืออยู่
ภายหลังการนำเสนอความคืบหน้าโครงการฯ ท่านอาจารย์ชยสาโร
ได้ให้ข้อคิดต่อการดำเนินการโครงการในระยะต่อไป ว่าควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของครูเป็นหลักใหญ่
ที่ควรจะพัฒนาให้เกิดมีฉันทะ มีสัมมาทิฏฐิ ผู้บริหารและครูควรจะต้องมีการสมาทานศีล
๕ ให้เป็นที่ปรากฏเป็นแบบอย่างอย่างเนืองนิตย์ ในขณะเดียวกัน ทางกระทรวงก็จะต้องดำเนินกิจกรรมที่จะช่วยทำให้ครูรู้สึกว่าตนเองมีเกียรติอันน่าภาคภูมิใจที่อยู่ในโรงเรียนวิถีพุทธ
นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังได้แนะนำให้ทางกระทรวงฯ พัฒนาระบบงานที่ดีขึ้นมาด้วย
และควรจะต้องตั้งมาตรฐานโรงเรียนวิถีพุทธ และระยะเวลาที่ให้โรงเรียนที่สมัครเข้าโครงการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน
ว่าควรเป็นไปในระยะกี่ปีด้วย นอกจากนี้ท่านอาจารย์ยังได้แนะนำต่อไปว่า
ทางกระทรวงฯ ควรจะจัดงานใหญ่สักครั้งหนึ่งที่จะเชิญให้ผู้บริหารและตัวแทนครูโรงเรียนวิถีพุทธมาประชุมพร้อมกันเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
แล้วให้มีการสมาทานศีล ๕ จากสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น โดยใช้พลังจากพิธีกรรมมาสร้างความรู้สึกประทับใจ
และอาจจะให้มีการบรรพชาอุปสมบทครูในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจจะพัฒนาต่อเป็นวิถีชีวิตร่วมกันของผู้บริหารโรงเรียนวิถีพุทธในแต่ละปีต่อไป
นอกจากนั้น ท่านอาจารย์ยังได้แนะนำให้ทางกระทรวงควรให้ความสำคัญกับโครงการโรงเรียนวิถีพุทธมากขึ้น
ควรจะมีงบประมาณให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงนี้ทาง ดร.บรรเจอดพร
ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ปีนี้โครงการโรงเรียนวิถีพุทธได้รับ งบประมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว
รวมเป็นวงเงินประมาณ ๑๔ ล้านบาท ซึ่งท่านอาจารย์ได้ชวนให้ที่ประชุมได้ลองคิดคำนวณเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ใช้ตัดถนนในวงเงินดังกล่าว
จะได้ระยะทางสักเท่าไร ท่านยังอุปมาให้วงเสวนาคิดตามว่า ถ้าเราจะเชิญผู้บริหารโรงเรียนวิถีพุทธทั้ง
๑๔,๐๐๐ โรงเรียนมาเข้าแถวต่อกันไปบนถนน ว่าสิ้นสุดระยะทางเท่าไร
ทางรัฐบาลก็น่าจะให้งบประมาณเท่ากับที่ใช้ก่อสร้างถนนในระยะทางที่เท่ากันนั้น
ซึ่งถ้าเกิดทำขึ้นมาจริง ๆ ก็น่าจะทำให้คนในสังคมเกิดความสนใจและคิดขึ้นได้ถึงความสำคัญของการพัฒนาคน
ที่รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญมากกว่าเมื่อเทียบกับการพัฒนาทางวัตถุ
จากนั้นที่ประชุมได้มีการพูดคุยซักถามกันไปมาในประเด็นสั้น
ๆ และได้มีการนำเสนอถึงยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายโรงเรียนวิถีพุทธ
เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบวิถีพุทธจากรากหญ้า และดำเนินการต่อเนื่องไปได้อย่างยั่งยืน
โดยมีการนำเสนอแนวคิดการสร้างให้เกิดเครือข่ายในสองลักษณะด้วยกัน คือ
เครือข่ายในลักษณะตามภูมิภาคที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวิถีพุทธ กับ เครือข่าย
๖ ระนาบ ซ้อนเข้าไป คือ (๑) เครือข่ายศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารโรงเรียนวิถีพุทธ (๒) เครือข่ายครูวิถีพุทธ (๓)
เครือข่ายเยาวชนวิถีพุทธ (๔)
เครือข่ายครอบครัววิถีพุทธ (๕) เครือข่ายงานวิจัยการศึกษาแนวพุทธ (๖) เครือข่ายพระสงฆ์กับการศึกษา และควรมีช่องทางการสื่อสารในการบริหารจัดการเครือข่ายเหล่านี้อย่างเป็นกิจจลักษณะด้วย
นอกจากนี้ ดร.บรรเจอดพร ได้มีการพูดถึงการเตรียมการที่จะจัดให้มีการประชุมสัมมนาผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธจาก
๑๗๕ เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่
๑๔ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ที่ สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา
วัดไร่ขิง ซึ่งก็ต้องขอความเมตตาจากพระอาจารย์ และผู้ที่มาร่วมเสวนาในวันนี้
ให้การสนับสนุนด้วย.
|