จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันที่มักจะพูดกันว่าเป็นยุค
"โลกาภิวัฒน์ " หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาอันทันสมัย
ที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียน การสอน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
และสามารถตรวจสอบความถูก ผิด เหมือนมีครูอยู่ด้วย ในลักษณการสื่อสารสองทาง
[ Two ways communication ] ซึ่งสามารถเลือกใช้เพื่อศึกษาหาความรู้ได้โดยรวดเร็วเท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อจำกัด
ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใดในโลก กรณีเรียนทางอินเตอร์เน็ต [ e Learning
]แต่สิ่งต่างๆหลากหลายเหล่านั้นก็ไม่มีสิ่งใดสามารถทำหน้าที่แทน "ครู"
ได้อย่างสมบรูณ์ เพราะครูนั้นจะต้องมีบทบาทในการประเมิน, วิเคราะห์การเลือกสรรค์,
การเตรียมการสอน และจัดหาอำนวยความสะดวก ให้สื่อต่างๆ ได้นำมาใช้ตรงกับกลุ่มนักเรียน
อย่างมีประสิทธิผลได้ จากการวิพากษ์ วิจารณ์กันมากว่า "ครูในปัจจุบันขาดคุณภาพ
" อาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีรวดเร็วเกินกว่าจะเรียนรู้ได้ทัน,
การไม่แสวงหาความรู้, การไม่รู้จักใช้ครูให้เหมาะสมสอดคล้องกับคุณวุฒิและความสามารถพิเศษเฉพาะตัวทางสังคม
ตลอดจนการไม่ยอมลงทุนของผู้บริหารโรงเรียน ฯลฯ
จึงสรุปได้ว่าวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว ครูผู้สอนทุกคนควรหันมาใช้สื่อทางเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยในการสอน
ครูผู้สอนจะมีเวลามากขึ้น เพื่อที่จะหันมาสนใจกับงานทางด้านอื่นๆ นอกเหนือการต้องหมดเวลาไปกับการยืนเขียนกระดานในเรื่องต่างๆ
หรือต้องนั่งสอนอยู่กับนักเรียนในชั้นทั้งวัน
การทำบทเรียนสำเร็จรูป ไม่ได้ทำเพื่อสอนแทนครู แต่ทำเพื่อเป็นเครื่องมือในการสอนของครู
ดังนั้นครูแต่ละคนจะต้องเป็นผู้วิเคราะห์และเลือกสรรค์สื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มนักเรียนและเนื้อหาวิชาที่สอน
ซึ่งบางครั้งครูควรจะต้องเขียนเนื้อหาของบทเรียนด้วยตนเอง จึงขอให้ใช้เวลาว่างหันมาทดลองทำบทเรียนสำเร็จรูปไว้เป็นเครื่องมือในการสอนให้กับนักเรียนของท่านแบบง่ายๆก่อนแล้วค่อยๆปรับปรุงไปเลื่อยๆ
บทเรียนสำเร็จรูป [ Programmed
Instruction ] มีลักษณะอย่างไร ?
J.H. Harless กล่าวว่า " เป็นหนังสือประหลาดเล่มเล็ก "
Markle ให้คำนิยาม " บทเรียนสำเร็จรูป " ว่า เป็นหนังสือที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ขบวนการแก้ไข
เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัญหาในการเรียนการสอนและจบลงด้วยการทดสอบว่าผลลัพธ์ที่หาได้และจัดทำขึ้นนั้นมีประสิทธิภาพ
หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นขบวนการเรียนซึ่งนำผู้เรียนไปยังจุดมุ่งหมาย หรือพฤติกรรมขั้นสุดท้ายที่ตั้งไว้ด้วยตนเอง
" บทเรียนสำเร็จรูป " จะต้องผ่านการวางแผน,
ออกแบบ, ทดสอบประเมินผลและปรับปรุง จนกว่าจะได้บทเรียนตรงตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการในการสอน
มันอาจจะปรากฎออกมาในรูปเล่มแบบตำราผึกหัด เป็นชุดวีดีทัศน์, สไลด์ประกอบเสียง,
เครื่องเล่นวีดีโอ ซี.ดี. มัลติมีเดียคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์การสอนอย่างอื่นๆเนื้อหาของบทเรียนจะถูกแยกออกเป็นขั้นตอนเล็กๆ
เรียกว่า " เฟรม " ( Frame ) เนื้อหาวิชาย่อย ๆ นี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนไปที่ละขั้น
( Gradual approximation ) แต่ละเฟรมจะบรรจุข้อความคำอธิบาย คำถาม เนื้อที่วางให้ตอบคำถาม
และเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสได้ตรวจคำตอบของตนเอง
และทราบได้ทันที่ว่าตนเองตอบถูกหรือผิด คือมี immediate feedback นั่นเอง,
เมื่อผู้เรียนตอบผิด ก็ไม่มีใครรู้ ไม่เกิดปมด้อย แต่หากตอบถูก ผู้เรียนก็จะเกิดความมั่นใจและมีกำลังใจในการเรียนต่อไป
จึงเท่ากับว่า "บทเรียนสำเร็จรูป" ได้ให้ประสบการณ์แห่งความสำเร็จ(success
experience)กับผู้เรียนนั่นเอง หลักการของบทเรียนสำเร็จรูปข้างต้น คือการให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม
( participation ) โดยการผึกหัด และตอบคำถาม; การให้เรียนไปทีละขั้น
ๆ ( gradual approximation ); การให้การตอบสนอง ( feedback ) และการให้ประสบการณ์แห่งความสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราแน่ใจได้ว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้น
ชนิดของ" บทเรียนสำเร็จรูป " ( Programmed Instruction
) เราสามารถแบ่งแยกวิธีเขียน Program ได้เป็น 2 ชนิดคือ 1. Linear Programming
2. Adaptive Programming
1. Linear Programming คือวิธีจัดให้ผู้เรียนได้อ่านข้อความเดียวกัน
ตามลำดับเดียวกัน และตอบคำถามเหมือนกัน ตั้งแต่เฟรมแรกจะให้เป็นพื้นฐานของเฟรมต่อไป
วิธีตอบของการเขียนโปรแกรมแบบนี้มักจะเป็นแบบเลือกข้อถูกผิด หรือการเติมคำในช่องว่าง.
ตัวอย่าง " บทเรียนสำเร็จรูป " Liner Programming จะประกอบด้วย
เฟรม และ เนื้อเรื่อง ดังนี้
เฟรมที่ 30 วัตถุประสงค์ในการสอนจะต้องแสดงถึงการแสดงออกอย่างเดียวกันของผู้เรียน
จะมีคำถามดังนี้
ข้อความต่อไปนี้ ข้อใดบ้างที่ได้ระบุถึงการแสดงออกของผู้เรียนซึ่งจะเป็นอย่างเดียวกัน
?
( A ) ผู้เรียนจะต้องรู้ว่าการเขียนวัตถุประสงค์นั้นจะเขียนได้อย่างไรบ้าง
?
( B ) ผู้เรียนจะต้องเข้าใจในเรื่องวัตถุประสงค์นั้นจะเขียนได้อย่างไรบ้าง
?
( C ) ผู้เรียนจะสามารถเขียนวัตถุประสงค์นั้นได้อย่างถูกต้อง ?
เฟรมที่31 คำตอบในเฟรม 30 ที่ถูกต้อง คือ ข้อ ( C ) ผู้เรียนจะสามารถเขียนวัตถุประสงค์นั้นได้อย่างถูกต้อง
มาลองดูการตอบในช่องที่ 1 และ ช่องที่ 2 ว่าจะเป็นอย่างไร ?
ช่องที่ 1
ช่องที่ 2
ซาบซึ้ง ...................เขียนได้
รู้ ...........................บรรยายได้
เข้าใจ ....................วาดรูปได้
คำกล่าวในช่องที่ 1 คำว่า ซาบซึ้ง, รู้, เข้าใจ นั้นหละหลวมมาก เพราะผู้อ่านสามารถตีความหมายไปได้ต่าง
ๆ กัน ส่วนคำกล่าวในช่องที่ 2 คำว่า เขียนได้, บรรยายได้, วาดรูปได้
นั้นเป็นการเขียนวัตถุประสงค์ชัดเจนกว่ากันมาก
คำกล่าวในช่องที่ 1 และ 2 มีอะไรที่ทำให้แตกต่างกันบ้าง ?
( A ) คำกล่าวในช่องที่ 1 มีคำกริยา แต่ช่องที่ 2 ไม่มี
( B ) คำกล่าวในช่องที่ 1 เข้าใจง่าย แต่ช่องที่ 2 เข้าใจยาก
( C ) คำกล่าวในช่องที่ 1 เป็นพฤติกรรมที่สังเกตหรือประเมินผลไม่ได้
คำกล่าวในช่องที่ 2 เป็นพฤติกรรมที่สังเกตหรือประเมินผลได้
2. Adaptive Programming, ( Branched Programming ) เนื้อเรื่องที่จะให้ผู้เรียนนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละผู้เรียน
การเขียนโปรแกรมนี้อาจแยกได้เป็น 2 วิธีย่อยคือ
2.1 เมื่อผู้เรียนตอบเฟรมใดผิด จะมีเฟรมอื่นอธิบายคำตอบที่ผิดนั้น
2.2 ให้ผู้เรียนข้ามเฟรมซึ่งบรรจุเนื้อเรื่องที่ผู้เรียนมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ
อยู่ก่อนแล้ว แต่การที่ผู้เรียนจะข้ามเฟรมใดเฟรมหนึ่งได้นั้น ขึ้นอยู่กับคำตอบที่ได้เลือกตอบไปจากเฟรมที่แล้วมาได้ถูกต้องเสียก่อน
ตัวอย่าง " บทเรียนสำเร็จรูป " Adaptive Programming
เฟรม 14 ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ดี " เมื่อผู้เรียนเรียนจบแล้ว
เขาจะต้องสามารถบอกชื่อปุ่มต่างๆ ที่ใช้บังคับเครื่องฉายสไลด์ได้ คำที่บอกให้รู้ว่าผู้เรียนจะทำอะไรได้
ซึ่งเป็นการแสดงออกของพฤติกรรมว่าเขาได้ประสบความสำเร็จตาม จุดมุ่งหมาย
คือคำว่า บอกชื่อได้
จุดมุ่งหมายต่อไปนี้ข้อใดแสดงถึงพฤติกรรมบ้าง ?
1. เพื่อเพิ่มพูนความซาบซึ้งในรสดนตรี ( หากผู้เรียนเลือกตอบข้อที่ 1
แล้วจะสั่งให้ไปอ่านเฟรมที่ 15 )
2. เพื่อให้สามารถเล่นคนตรีได้ ( หากผู้เรียนเลือกตอบข้อที่ 2
แล้วจะสั่งให้ไปอ่านเฟรมที่ 16 )
เฟรม15 ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ทำไมท่านจึงเลือกคำตอบข้อนี้ ลองดูถึงหัวใจของวัตถุประสงค์ใหม่
ผู้เรียนสามารถทำอะไร เพื่อแสดงว่าเขาประสบถึงจุดมุ่งหมาย แล้วเขาแสดงว่าเขาซาบซึ้งในรสดนตรีอย่างไร
? ข้อที่ท่านเลือกไม่ได้บอกไว้ชัดเจน อาจจะเป็นว่า 1. เขาเกิดเริ่มสนใจฟังดนตรี
2. เขาเกิดความยินดีเมื่อได้ฟังตนตรี 3. เขาอุทานว่า " โอโฮ ดนตรีนี้เพราะจริง
" ท่านจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์นี้หละหลวม ไม่มีใครรู้ถึงความประสงค์ที่แท้จริง
ของผู้เขียน วัตถุประสงค์นี้จึงสื่อความหมายไม่ได้. ลองกลับไปอ่านเฟรมที่14
แล้วตอบคำถามใหม่ (สั่งให้ไปเรียนใหม่)
เฟรม 16 ถูกแล้ว ท่านเลือกได้ถูกต้องแล้วขอแสดงความยินดี วัตถุประสงค์นี้บอกให้ผู้เรียนได้รู้ว่า
จะต้องแสดงอะไรออกมาจึงจะเป็นการแสดงว่า เขาได้บรรลุจุดมุ่งหมายนั้น
ๆ
สมมุติว่า ผู้เรียนทราบถึงวิธีเล่นดนตรีโดยละเอียด จะเรียกว่าผู้เรียนได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายหรือไม่
?
หากตอบว่า ใช่ ให้อ่านเฟรมที่ 17
หากตอบว่า ไม่ใช่ ให้อ่านเฟรมที่ 18
ข้อดีและข้อบกพร่องของ บทเรียนสำเร็จรุป
บทเรียนสำเร็จรูป ก็เหมือนสิ่งของทั้งหลายที่ย่อมมีทั้งข้อดี และข้อบกพร่อง
จึงควรจะได้ทราบทั้งข้อดี และข้อเสียไว้บ้าง คือ
ข้อดี
1. นักเรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเอง, ฝึกให้รู้จักเป็นคนมีความรับผิดชอบ
และดำเนินไปตามความสามารถของตน คล้ายกับนักเรียนได้มีโอกาสเรียนกับครูแบบตัวต่อตัว
2. ช่วยให้ครูทำงานน้อยลงในด้านการสอนข้อเท็จจริงต่างๆ, ครูจะมีโอกาสใช้เวลาเหล่านั้นไปในการเตรียมบทเรียนอื่น
ๆ ให้ก้าวหน้า หรือใช้เวลาในการดูแลการเรียนของนักเรียนแต่ละคนได้มากขึ้น.
3. ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนเพราะมีการเร้าให้ตอบและมีกำลังใจเมื่อตอบถูก
โดยที่แม้ตอบผิดก็ไม่มีผู้อื่นเยาะเย้ยเพราะไม่มีผู้อื่นทราบ และเมื่อตอบผิดแล้ว
ก็สามารถจะแก้ไขความเข้าใจผิดได้ทันทีด้วยตัวเอง
4. สนองความสามารถและความแตกต่างระหว่างนักเรียน นักเรียนที่เรียนช้าจะมีโอกาสได้ทบทวนศึกษา
แต่นักเรียนที่เรียนได้เร็วก็จะมีโอกาสใช้เวลาไปศึกษาเรื่องอื่นๆ ไม่ต้องรอเพื่อนที่เรียนช้า
5. เป็นการแก้วิธีการศึกษาในปัจจุปัน ที่นักเรียนมักขาดเรียนเมื่อครูสอนหรือมัวแต่ไปทำกิจกรรมอื่นๆในชั่วโมงเรียนปกติ
ให้มีโอกาสได้เรียนรู้ทันเพื่อนๆได้
6. ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในวิชาพิเศษ หรือครูมีภารกิจอื่นๆ ไม่สามารถเข้าสอนได้
7. เป็นการทุ่นเวลาในการสอนบทเรียนหนึ่ง ๆ เพราะผลจากการวิจัยพบว่าบทเรียนสำเร็จรูป
สามารถสอนเนื้อหาได้มากเท่ากับวิธีสอนอย่างอื่นโดยใช้เวลาน้อยกว่า ดังนั้นหากครูสามารถจำกัดเวลาสอนให้เหลือได้
ก็อาจป้อนเนื้อหาวิชาเพิ่มเติมให้มากขึ้นได้ ซึ่งครูส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการเขียนกระดานมาก
8. เวลาที่นักเรียนแต่ละคนใช้ในการทำบทเรียน จะเป็นเครื่องวัดแสดงถึงความแตกต่างระหว่างนักเรียนในชั้น
จึงเป็นการประเมินผลการเรียนของนักเรียนได้ง่าย
ข้อบกพร่อง
1. ไม่อาจใช้แทนครูได้โดยสิ้นเชิง เพราะนักเรียนยังต้องการคำชี้แจง แนะนำจากครูอยู่อีกมาก
2. เนื้อหาวิชาบางวิชาที่ต้องการผลสนองตอบในแง่ความคิด เช่น เรียงความจะใช้ไม่ได้ผล
3. การที่นักเรียนมีความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้น นักเรียนเก่งอาจทำเสร็จไว้ก่อนแล้ว
หรือเคยศึกษาล่วงหน้าไว้ก่อนจะไม่มีอะไรทำอีก ทำให้เบื่อหน่าย หรืออาจไม่สนใจเข้าเรียนในชัวโมงเรียนเพื่อหวังว่าจะไปเรียนจากโปรแกรมก็ได้
ดังนั้นครูผู้ควบคุมจึงต้องระวังควบคุมและคอยเพิ่มเติมงานอื่นพิเศษให้เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมด้วย
( ไม่ควรให้นักเรียนได้เรียนก่อนที่ครูจะอนุญาตให้เข้าดูเป็นเรื่องๆไป
)
4. บทเรียนสำเร็จรูป เป็นสิ่งที่ครูสร้างขึ้น ย่อมไม่วิเศษไปกว่าครู
บทเรียนบางบทก็ไม่สนองให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ ทำให้เสียเวลาและสร้างความสับสน
หากไม่มีการวิเคราะห์จัดหาให้ถูกต้อง (ครูจะต้องติดตามสอดส่องดูแลและประเมินผลอย่างใกล้ชิด
)
การใช้ " บทเรียนสำเร็จรูป " ในการศึกษา
เนื่องจากบทเรียนสำเร็จรูปมีลักษณะที่แตกต่างไปจากบทเรียนธรรมดาโดยสิ้นเชิง
ครูผู้สอนจึงจำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักกับวิธีการใช้เสียก่อน
Dales กล่าวว่า ก่อนที่ผู้สอนจะใช้บทเรียนสำเร็จรูปนั้นควร
1. เรียนรู้การเลือกเฟ้นบทเรียน เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละประเภท
2. เรียนรู้วิธีการใช้ " บทเรียนสำเร็จรูป " ให้ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด
(ถ้าครูเองยังไม่แน่ใจแล้วจะให้นักเรียนทำอย่างถูกต้องได้อย่างไร ? )
3. ตระหนักถึงจุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐานของ " บทเรียนสำเร็จรูป "
ว่ามีไว้เพื่อช่วยการสอนอะไร ไม่ใช่เพื่อเข้าแทนที่การสอนในวิชานั้น
ๆ
ส่วนนักเรียนควรจะทราบวิธีการใช้อุปกรณ์และ บทเรียนสำเร็จรูป "
ล่วงหน้าเช่นกัน เพื่อให้ได้ผลในการศึกษาตามจุดมุ่งหมายอย่างเต็มที่
คือ
1. จะต้องสอนให้นักเรียนต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง (ไม่ดูคำตอบก่อน )
2. นักเรียนจะต้องปฎิบัติตามขั้นตอนของคำสั่งในบทเรียนทุกประการ
3. นักเรียนควรจะทำงานตามกำลังความสามารถของตนเอง ด้วยความสบายกาย สบายใจไม่หักโหมอยู่กับบทเรียนนานเกินไป
ลำดับขั้นในการสร้างบทเรียนสำเร็จรูป
ตารางข้างล่างนี้จะแสดงถึงลำดับขั้นทั้ง 5 ของการสร้าง " บทเรียนสำเร็จรูป
" เกี่ยวกับ บุคคล, ผู้ร่วมงาน และผลงานในแต่ละขั้น
ลำดับขั้นในการสร้างบทเรียน Stage of the Programming
1 การสร้างจุดมุ่งหมายและการวิเคราะห์ภารกิจ Task Analsis
2 การวางแผนออกแบบบทเรียน Design
3 การเรียบเรียงแก้ไขบทเรียน Editing
4 การทดสอบบทเรียนระหว่างการผลิต Developmental Testing
5 การทดสอบวัดประสิทธภาพของบทเรียน ก่อนนำไปใช้ Validation Testing
ผู้ร่วมงาน People Involved
ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ Subject matter Specialist
ผู้ทำบทเรียน Programmer
ผู้เรียบเรียงแก้ไข Editor
ผู้เรียน ( รายบุคคล ) Individual Student
กลุ่มนักเรียน Group of Students
ผลงาน Product
จุดมุ่งหมายต่างๆ List of Objectives
ร่างบทเรียนครั้งแรก Initial Version
บทเรียนที่ตัดต่อแล้ว Edited Version
บทเรียนขั้นสุดท้าย Final Version
ข้อมูลสถิติสมรรถภาพของบทเรียน Data on the effectiveness of the programme
การสร้างบทเรียนสำเร็จรูป
การสร้างบทเรียนสำเร็จรูป แต่ละเรื่องนั้นมีขบวนการซับซ้อนมากมาย
และ บทเรียนที่จะสร้างขึ้นแต่ละชุด จะต้องมีการทดลองใช้กับนักเรียนก่อนหลาย
ๆ ครั้งด้วยกันจนกว่าจะเป็นฉบับสมบูรณ์ได้ ขบวนการต่าง ๆ ที่จะสร้างบทเรียนสำเร็จรูปนั้นแยกได้ตามลำดับดังนี้
คือ
1. การเขียนจุดมุ่งหมาย : จะต้องดูถึงขอบเขตของบทเรียนและความรู้ต่างๆ
ที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ และจึงคิดจุดมุ่งหมายขึ้น จุดมุ่งหมายนั้นก็คือ
ความตั้งใจที่จะแสดงออกมาในรูปของความมุ่งหมายที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนฉะนั้นวัตถุประสงค์จึงจำเป็นต้องแสดงถึงพฤติกรรมที่เราต้องการให้นักเรียนแสดงออกมาและต้องสามารถวัดผลได้,
สังเกตได้ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่รู้ว่านักเรียนได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายหรือไม่
2. ศึกษากลุ่มนักเรียน : ต้องรู้ว่านักเรียนที่จะใช้บทเรียนนี้คือใคร
เขาได้เรียนรู้อะไรมาก่อนบ้าง และความรู้นั้นจะเพียงพอสำหรับเป็นพื้นฐานกับบทเรียนที่จะเรียนต่อไปได้ไหม
ข้อมูลที่ควรทราบประกอบด้วย อายุ, เพศ ความสามารถ, ความสนใจ, ทัศนคติ,
ความต้องการ ฯลฯ
3. ลงมือเขียนจุดมุ่งหมาย และวิเคราะห์ภารกิจ ( task analysis ) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า
จุดมุ่งหมายจะต้องเน้นถึงพฤติกรรม เพื่อที่เราจะได้สังเกต และจะได้รู้ว่านักเรียนได้เรียนรู้อะไรหรือไม่
จุดมุ่งหมายที่ดี จะต้องระบุถึงการกระทำของนักเรียน ไม่ใช่การกระทำของครู,
ต้องกล่าวถึงว่า เมื่อจบบทเรียนแล้ว นักเรียนจะต้องทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่รู้เค้าโครงเรื่องวิชานั้นๆ
, ต้องระบุถึงระดับขั้นที่ยอมรับของการแสดงพฤติกรรมนั้นๆ เช่น มีการทำข้อสอบหรือทดสอบการปฎิบัติหลังจากได้เรียนเป็นต้น
พฤติกรรมขั้นสุดท้ายจะต้องถูกนำมาแยกเป็นพฤติกรรมย่อย ๆ ( Sub objectives
หรือ sub task ) เพื่อแสดงถึงลำดับขั้นของการเรียนด้วย คือต้องวิเคราะห์ผู้เรียนว่าต้องสามารถทำอะไรได้บ้างก่อนที่จะทำตามพฤติกรรมขั้นสุดท้าย
งานในขั้นนี้ผู้ทำบทเรียนจำเป็นต้องขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการของแต่ละสาขานั้นๆ
4. การสร้าง Criterion Test ตามจุดมุ่งหมายข้างต้น จุดมุ่งหมายCriterion
Test นี้จะเป็นการวัดว่านักเรียนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตามความต้องการหรือไม่ข้อทดสอบเหล่านี้จะนำไปใส่ไว้ในบทเรียนเป็นตอนๆ
ไป
5. เขียนตัวโปรแกรม : ลงรายละเอียดต่างๆ เรื่องราวที่ต้องการให้นักเรียนรู้ออกมาในรูปของโปรแกรม
คือ แบ่งเป็น เฟรม ๆ แต่ละเฟรมมีข้อความที่ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้
มีคำถาม และนักเรียนสามารถหาคำตอบจากข้อความในคำถามนั้นๆ ได้ทันทีทันใด
สิ่งที่ต้องคำนึงสำหรับขั้นนี้คือ จะต้องเขียนบทเรียนขึ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามจุดมุ่งหมาย
และเมื่อได้ร่างบทเรียนแล้ว ควรมีการเรียบเรียงแก้ไข ( edit ) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางภาษาด้วย
6. การวัดประเมินผลของบทเรียนนั้น ๆ โดยเปรียบเทียบกับมาตรการที่ได้สร้างไว้
การทดสอบนี้ควรทำกับนักเรียนเป็นรายบุคคลก่อน แล้วจึงหานักเรียนเป็นกลุ่ม
ซึ่งเป็นตัวแทนของนักเรียนจริงๆ มาทดสอบอีก การทดสอบควรให้ใกล้เคียงสภาพการใช้ในพื้นที่จริงให้มากที่สุด
7. การปรับปรุงแก้ไขบทเรียนนั้นๆ ตั้งแต่ต้น โดยดูถึงจุดมุ่งหมายที่สร้างว่าแจ่มชัดหรือไม่
Criterion Frames เป็นอย่างไร ปรับปรุงเนื้อหาโปรแกรมแต่ละเฟรมให้เหมาะสม
ไม่ให้ยากหรือง่ายจนเกินไป (ทำง่ายไปยาก)
ข้อควรระวังในการใช้ บทเรียนสำเร็จรูป จะต้องคำนึงเสมอว่า เมื่อจะใช้บทเรียนสำเร็จรูปในการสอนนั้น
ก็เพราะต้องการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นในขณะดูหรืออ่านเฟรมไปแต่ละเฟรมพร้อมๆกับตอบคำถามที่ถามอยู่เป็นการเช็คว่านักเรียนได้เข้าใจในเรื่องนั้นๆ
หรือไม่และต้องคำนึงเสมอว่าบทเรียนสำเร็จรูป ไม่ใช่ข้อสอบ ที่จะใช้วัดผลความรู้ของนักเรียน
ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น สาเหตุเพราะว่าก่อนที่จะให้นักเรียนได้เรียนบทเรียนสำเร็จรูปนั้น
จะต้องทดสอบชุดหนึ่งให้นักเรียนได้ทำก่อน เป็นแบบข้อสอบเพื่อทดสอบว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้นๆมาแล้วเพียงใด
ข้อสอบนี้เรียกว่า Pre - test ( ควรทดสอบความรู้ในการใช้ บทเรียนสำเร็จรูปด้วย
)
หลังจากได้ทำข้อสอบ Pre - test แลัว จึงจะให้นักเรียนได้เรียนจากบทเรียนสำเร็จรูป
ซึ่งจะเป็นการปล่อยให้เรียนรู้ตามความสามารถของแต่ละคนด้วยตนเอง
เมื่อได้เรียนรู้จากบทเรียนสำเร็จรูปแล้ว หากครูต้องการจะวัดผลว่านักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นหรือไม่
ก็ต้องให้ข้อทดสอบอีกชุดหนึ่ง ซึ่งถามเกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่ให้เรียน
ข้อสอบชุดนี้จะมีความคล้ายคลึงกับข้อทดสอบชุดแรก คือ ชุด Post - test
ข้อสอบใหม่นี้จะวัดว่าหลังจากนักเรียนได้เรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูปแล้ว
จะมีความรู้เพิ่มขึ้นเพียงใด ดังนี้ Pre - test > programmed >
Post - test นอกจากนั้นยังมีข้อปลีกย่อยต่างๆ ซึ่งครูควรคำนึงถึงก็คือ
1. ดังทราบแล้วว่าบทเรียนสำเร็จรูปต้องการให้นักเรียนเรียนรู้ตามความสามารถของตนเอง
ครูจึงไม่ต้องกำหนดเวลาว่าบทเรียนนั้นจะต้องใช้เวลาเท่าใด นักเรียนบางคนอาจเรียนได้ภายใน
1 ชั่วโมงในขณะที่ นักเรียนบางคนต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาทีก็ได้
2. ครูจะต้องเน้นให้นักเรียนทราบถึงจุดประสงค์ใหญ่ของการเรียนบทเรียนสำเร็จรูป
ว่าเป็นการเรียนตามความสามารถของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นในเวลาที่อ่านหรือดู
บทเรียนสำเร็จรูป จึงจำเป็นจะต้องตอบคำถามที่ถามในแต่ละเฟรมก่อนที่จะไปอ่านหรือดูคำตอบที่ได้เสนอไว้แล้ว
3. หลังจากอ่านหรือดูบทเรียน บทเรียนสำเร็จรูป แล้วครูอาจจัดให้มีกิจกรรมอื่นๆ
เพื่อเป็นการเสริมบทเรียน ทำให้นักเรียนเข้าใจในเรื่องบทเรียนนั้นมากขึ้น
ก่อนที่จะให้นักเรียนทำข้อสอบ Post - test ก็ได้
4. หลังจากที่ทำ Post - test แลัว ถ้านักเรียนยังไม่ได้แสดงว่ามีความรู้ในเรื่องนั้น
ๆ พอ ก็ควรให้กลับไปทบทวนบทเรียนสำเร็จรูปในวิชานั้น ๆใหม่ได้
สรุปได้ว่าบทเรียนสำเร็จรูป 1 ชุด ไม่ว่าจะเป็นสื่อในรูปแบบใด
จะต้องมีแบบทดสอบ Pre - test และแบบประเมินผล Post - test ควบคู่ไว้เสมอ
จึงขอฝากเรื่องนี้ไว้สำหรับคุณครูแต่ละคนช่วยกันคิดออกแบบบทเรียนสำเร็จรูปไว้ใช้กับนักเรียน
ซึ่งจะทำให้การดำเนินการผลิตออกมาได้ตามจุดมุ่งหมายต่อไปหากครูผู้ชำนาญการสอนช่วยกันคิด
จะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ยังดีกว่าไม่มีจุดเริ่มต้นคิดเลย เพราะหากมีปัญหาบ้างก็จะได้มีการพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้น
ได้ สื่อที่ดีควรจะให้ใช้ได้ต่อไปหลายๆ ปี ไม่ล้าสมัย ไม่มีข้อขัดแย้งในกลุ่มนักวิชาการ
และถึงวันนั้นที่เรามีบทเรียนสำเร็จรูปอยู่มากๆ คุณครูแต่ละคนก็จะเบาแรง
และมีเวลาว่างในการพักผ่อน ไม่ต้องมานั่งจ้ำจี้จ้ำไชนักเรียนกันอยู่อย่างทุกวันนี้.