พุทธชยันตี 2600 ปี
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=20198
งานฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
(Buddhajanyanti: The Celebration of 2,600 Years of the Buddha’s Enlighthenment)
|
พุทธชยันตีหมายความว่าอะไร?
พุทธชยันตี โดยรากศัพท์ของคำว่าชยันตีมาจากคำว่า “ชย” คือชัยชนะ อันหมายถึงชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง อันทำให้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นในโลก พุทธชยันตีจึงมีความหมายว่าเป็น การตรัสรู้ และ การบังเกิดขึ้น ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ในปัจจุบันพุทธชยันตียังถูกตีความในความหมายถึงชัยชนะของพุทธสาสนาและชาวพุทธด้วย เช่น การได้รับเอกราชและ มีสิทธิในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นครั้งแรกของชาวพุทธในประเทศศรีลังกา การฉลองปีใหม่ชาวพุทธโดยไม่มีเหล้าสุรายาเสพติดสิ่งมึนเมาทั่วทั้งประเทศศรีลังกา การเอาชนะสิ่งเลวร้ายในสังคมจนทำให้ประเทศศรีลังกามีสถิติอาชญากรรมต่ำมากๆ
ที่มาและความสำคัญ
พุทธชยันตี (बुद्ध जयंती, Buddha Jayanti) เป็นชื่อเรียกงานเฉลิมฉลองหรือพิบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในวาระแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาในประเทศไทยนั่นเอง พุทธชยันตีนี้เป็นที่รู้จักกันดีของชาวพุทธนานาชาติอย่างในประเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ.2500 (ถือกันว่าเป็นกึ่งพุทธกาล) แต่สันนิษฐานว่ามีการเริ่มต้นงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตีนี้ ภายหลังจากที่ประเทศศรีลังกาได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี พ.ศ.2491 และจากการที่ ดร.อัมเบดการ์ (Dr.Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) ได้ฟื้นฟูพุทธสาสนาในประเทศอินเดีย โดยมีการนำชาวอินเดียประมาณ 2 แสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2499 (อินเดีย ศรีลังกา นับเป็นพ.ศ.2500 เร็วกว่าไทย 1 ปี) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษนอกจากนี้รัฐบาลประเทศอินเดียยังได้สร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลีเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับวาระนี้ด้วย สำหรับรัฐบาลไทย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธ ศตวรรษ ด้วยการสร้างพุทธมณฑลเป็นอนุสรณ์สถาน ประกาศให้พุทธสาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยกำหนดให้วันพระหรือวันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ(ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2499) และมีการพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยครบชุดฉบับแรก เป็นต้น สำหรับการเฉลิมฉลองในระดับนานาชาตินั้น รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพในการจัด “ฉัฏฐสังคีติ” คือการสังคายนาพระไตรปิฎกระดับนานาชาติ โดยทางพม่านับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 6 แล้วได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีและคัมภีร์ทั้งหลายขึ้นเป็นจำนวนมาก
สำหรับวาระสำคัญในปีปัจจุบันเนื่องในมหาธัมมาภิสมัย พุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้นั้น ถ้าถือตามหลักการคำนวณปีพุทธศักราชแบบไทยอยู่ในช่วงระหว่าง วิสาขบูชา 2554 – วิสาขบูชา 2555 ทั้งนี้ ในวันวิสาขบูชา 2554 ที่ผ่านมานี้ (17 พ.ค.2554) เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ 2599 ปีเต็ม และเริ่มเข้าสู่ปีที่ 2,600 แห่งการตรัสรู้โดยคำนวณจากการนำปีพุทธศักราชที่เริ่มนับหลังจากการปรินิพพาน บวกด้วย 45 อันเป็นจำนวนพรรษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังการตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธปรินิพพาน (สูตรการคำนวณ จำนวนปีการตรัสรู้ = ปี พ.ศ. + 45) ดังนั้นในวันวิสาขบูชาปีพ.ศ.2555 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ครบ 2,600 ปีบริบูรณ์ ในประเทศต่างๆ ที่มีชาวพุทธเข้มแข็งได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองในวาระนี้เป็นเวลา 3 ปี (2553-2555) ดังเช่นในประเทศศรีลังกา พม่า อินเดียเป็นต้นได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างตื่นตัวและยิ่งใหญ่ที่สำนักงานใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติสหรัฐอเมริกาก็มีการจัดงานฉลองใหญ่ในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดงานในระดับภาคประชาชนกว่า 2 ปีที่ผ่านมาในวงจำกัดส่วนในระดับรัฐบาล สมควรที่รัฐบาลไทยจะประกาศให้มีการเฉลิมฉลองใหญ่ตลอดปีพุทธศักราช 2555 นี้ อย่างเป็นทางการ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยครับ
ถ้าจะแปลตามศัพท์ คำว่า พุทธชยันตี แปลว่า เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ทรงชนะกิเลสทั้งหลายทั้งปวง จนถึงที่สุดแล้ว ไม่ต้องชนะกิเลสอีกต่อไป เพราะดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว
ไม่มีกิเลสใด ๆ เกิดขึ้นอีกเลย ไม่ทรงพ่ายแพ้ให้กับกิเลสอีกต่อไป [ขอให้ท่านผู้รู้ ได้พิจารณาอีกที นะครับ]
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสด็จอุบัติขึ้นในโลกเพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง ชีวิตของพระองค์ในชาติสุดท้าย จิตขณะแรกของพระองค์คือปฏิสนธิจิต[ที่เข้าใจกันคือถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา] เกิดขึ้นเมื่อวันเพ็ญเดือน ๘ คือ วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ต่อจากนั้นมา ๑๐ เดือน ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ก็ทรงประสูติจากพระครรภ์ของพระมาดาและทรงดำเนินไปได้ ๗ ก้าวพร้อมกับทรงเปล่งอาสภิวาจา ต่อจากนั้นเรื่อยมา ชีวิตของพระองค์ก็ทรงดำเนินไปตามปกติของฆราวาสวิสัยที่ยังไม่ได้ดับกิเลส จนกระทั่งพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระองค์เสด็จออกผนวชแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ซึ่งวันที่พระองค์เสด็จออกผนวชนั้น ตรงกับวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (เดือน ๘) ต่อจากนั้นผ่านไป๖ปี ตอนที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษาพระองค์ก็ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ (วันวิสาขบูชา) ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีกิเลสใด ๆ เกิดขึ้นอีกเลย เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว พระบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น ไม่ใช่เพื่อพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่เพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ผ่านมาอีก ๒ เดือน ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๘ พระองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์
จนเป็นเหตุให้ท่านโกณฑัญญะ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็น
อริยสงฆ์องค์แรกในโลก ต่อจากนั้นเป็นต้นมาตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลกมาโดยตลอด เวลาพักผ่อนของพระองค์น้อยมาก ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้เกิดปัญญา อย่างแท้จริง และมีผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน จนกระทั่งถึงวันเพ็ญเดือน ๖ ในขณะที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นการตายครั้งสุดท้ายของพระองค์ ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์
จะเห็นได้ว่า วันที่พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันวิสาขบูชานั้น เป็นวันที่ทรงดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ทรงชนะอย่างไม่มีวันที่จะกลับพ่ายแพ้ให้กับกิเลสอีกต่อไป เป็นวันที่พระองค์ทรงชนะจริง ๆ ก็คงจะกล่าวอย่างนี้ได้เสมอ เมื่อ
กล่าวถึงวันที่พระองค์ทรงตรัสรู้ (วันวิสาขบูชา) ไม่ว่าจะเป็นปีใดก็ตาม สิ่งที่จะเป็น
ประโยชน์จริง ๆ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แล้วน้อมประพฤติปฏิบัิติตามพระธรรม
ที่พระองค์ทรงแสดง
สมัยนี้ เป็นสมัยที่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังดำรงอยู่ แม้พระองค์
จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ ผู้ที่ได้ฟังพระ
ธรรม ศึกษาพระธรรม ด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตามกำลังปัญญาของตนเอง ซึ่งเป็นการยากมากที่จะได้ฟัง เพราะฉะนั้นล้ว พระธรรมแต่ละคำ ซึ่งเกิดจากการตรัสรู้ของพระองค์นั้น ควรค่าแก่การศึกษาเป็น
อย่างยิ่ง เมื่อเริ่มฟัง เริ่มศึกษาความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุก ๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณมากครับ เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์
มีผู้ฝากเรียนถามว่า ถ้าเช่นนี้ เมื่อถึงปีพุทธศักราช 2600 จริงๆ
จะต้องฉลองพุทธชยันตีอีกหรือเปล่า และจะเรียกปีนั้นว่า ปีพุทธชยันตี ได้หรือไม่
รบกวนอีกนิดหนึ่งนะครับ ขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ
นาวาเอกทองย้อย
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วครับ พุทธชยันตี หมายถึง วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ดับกิเลสและชนะมาร คือกิเลสหมดทั้งปวง เมื่อถึง ปี 2555 ก็เท่ากับ ครบ 2600 ปี ที่ตรัสรู้และดับกิเลสครับ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2600 เป็นปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 2600 ปี แต่เป็นปีที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ชนะกิเลสทั้งปวง 2645 ปี ถ้าจะเรียก พุทธชยันตี ก็คือ ในปี 2600 ฉลองพุทธชยันตีที่พระพุทธเจ้ททรงชนะกิเลสทั้งปวง ครบ 2645 ปี ซึ่งโดยส่วนมาก การจัดฉลองพุทธชยันตี จะเรียก หรือ จัด เมื่อตัวเลขบริบูรณ์ เช่น ครบ 2600 ปี ที่ทรงตรัสรู้ดับกิเลส เมื่อปี พ.ศ. 2555 ครับ หรือครบพระพุทธศาสนา 2500ปี ก็จัดพิธีพุทธชยันตี จากความเห็นส่วนตัวนั้นการจะเรียกอะไรก็ตาม็ขึ้นอยู่กับสมมติทางโลกที่จะระบุว่าเป็นอย่างไร ให้ความสำคัญในเรื่องอะไร ก็ตามสมมติชาวโลกกัน หากแต่ว่า พุทธศาสนิกชน ที่เข้าใจคำสอน สามารถน้อมระลึกถึงพระคุณ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ด้วยความเข้าใจพระธรรม และเข้าใจว่า พระองค์ได้ดับกิเลสทั้งปวง ด้วยพระปัญญา โดยเข้าใจธรรม เข้าใจหนทางที่เป็นหนทางตรัสรู้ เมื่อเข้าใจตรงนี้ ก็น้่อมระลึก ถึงพระคุณตามความเป็นจริง ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ระลึกถึงพระธรรมที่พระองค์ตรสรู้ ก็เท่ากับ กุศลเกิดในขณะนั้น ด้วยความเข้าใจถูก โดยไม่จำเป็นจะต้องจัดพิธี เพราะประโยชน์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม คือ ผู้ฟังได้เข้าใจพระธรรม ขณะนั้น เป็นขณะที่ประเสริฐ แม้ไม่มีพิธีการ และ การฉลอง แต่ถือได้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนแล้ว เพราะ เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โดยการเข้าใจพระธรรม ไมไ่ด้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ ครบจำนวนปีเท่านั้นเท่านี้ เพราะทุกขณะ หรือ ขณะใดที่เข้าใจ เป็นประโยชน์สูงสุด และทำตามจุดประสงค์ของพระพุทธเจ้าครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ที่ศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มหาเถรสมาคม(มส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) แถลงข่าวการจัดงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมเปิดตัวธงสัญลักษณ์และการจัดงานวันมาฆบูชา ระหว่างวันที่ 5 -7 มีนาคม 2555 โดยพระธรรมโกศาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวว่า มส.ให้ใช้คำว่า พุทธชยันตี ซึ่งหมายถึงวันแห่งชัยชนะ หรือวันเฉลิมฉลองการเกิดเป็นพระพุทธเจ้า 2,600 ปี ที่ชนะเหล่าหมู่มาร โดยในปีนี้วันมาฆบูชาถือว่า เป็นวันมาฆบูชาครบ 2,600 ปีด้วยเช่นกัน และทางมส.ให้มีการฉลองพุทธชยันตีตลอดปี ในขณะเดียวกันที่ประชุมวิสาขบูชาโลก ก็ยังมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานวิสาขบูชาโลก ครบ 2,600 ปี พุทธชยันตี ด้วย
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชาแห่งปีพุทธชยันตี รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการจัดงานพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงาน โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งในต่างประเทศ เช่น อินเดีย พม่า ก็ได้มีการเฉลิมฉลองพุทธชยันตีไปแล้ว ส่วนประเทศไทยจะจัดในปีนี้และจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่พิเศษ โดยมีภาครัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ส่วนการจัดงานจะแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.ด้านการปฏิบัติบูชา มุ่งส่งเสริมการปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน 2.ด้านวิชาการ เน้นการประชุมสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับพุทธประวัติ 3.ด้านกิจกรรม โดยมส.ได้มอบให้พศ. ร่วมกับองค์กรเครือข่ายเป็นหน่วยงานหลัก ในการกำหนดกิจกรรม ด้าน นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.พศ. กล่าวว่า ความสำคัญในวันนี้ได้มีการเปิดตัวธงสัญลักษณ์ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ โดยธงสัญลักษณ์ได้ผ่านความเห็นชอบจากมส. มีลักษณะดังนี้ ใบโพธิ์ หมายถึง การตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สีเขียวแห่งใบโพธิ์ หมายถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งพระพุทธศาสนา ธรรมจักรบนผืนธงชาติไทย หมายถึงสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ได้รองรับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองจนประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก โดยธงดังกล่าว พศ.จะมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด วัดในและต่างประเทศ ได้นำไปประดับในสถานที่สำคัญตลอดปีด้วย
พระพรหมสิทธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เจ้าคณะภาค 10 กล่าวว่า ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้วัดสระเกศ เป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2555 คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมเฉลิมฉลองเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการได้เข้ามาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ บนยอดพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เพื่อระลึกในพระกรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งขอเชิญชวนให้มาร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่วัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดขึ้น อาทิ การปล่อยขบวนรถบุพชาติ การบรรยายธรรม การสักการะพระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมในงานวันมาฆบูชาของแต่ละวันภายในวัดสระเกศฯ ประกอบด้วย ตักบาตรพระสงฆ์รอบบรมบรรพต กิจกรรมส่งเสริมศีลธรรม การออกร้านจำหน่ายหนังสือธรรมะ-สื่อธรรมะราคาถูก การปฎิบัติธรรม สวดมนต์ไหว้พระในพระอุโบสถและพระวิหารสำคัญ สักการะพระบรมสารีริกธาตุบนบรมบรรพต การแสดงธรรมเทศนา เวียนเทียนขึ้นบรมบรรพต ฯลฯ
วัดพิชยญาติการาม สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสและเจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวว่า วันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 7 มีนาคม 2555 เวลา 17.00 น. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินสดับพระธรรมเทศนา เนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดพิชยญาติการาม ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยเฝ้ารับเสด็จฯ พร้อมทั้งมาฟังพระธรรมเทศนาในหัวข้อ ginjv’ “สัมมาสติ” คือการมีสติระลึกชอบในการกระทำสิ่งต่างๆ เป็นการเตือนตนให้มีสติในการดำเนินชีวิต ไม่เกิดความประมาท โดยใช้วันมาฆบูชาเป็นวันเริ่มต้นแห่งการทำความดี
วาระแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี ซึ่งครบ 2,600 ปีแห่งการแสดงโอวาทปาติโมกข์ของพระพุทธเจ้า ถือเป็นการประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรก จึงใคร่เชิญชวนท่านทั้งหลายพึงรำลึกนึกถึงการได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาในช่วง 26 ศตวรรษ หรือ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ขอให้ตั้งใจบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้าอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้พบแต่ความสุข และความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้สรุปประเด็นความสำคัญของวาระดังกล่าวเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2555 เป็นพิเศษ โดยคณะสงฆ์และรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ และให้มีคณะกรรมการเตรียมการจัดงานวันวิสาขบูชา ปี 2555
วาระโอกาสพิเศษที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ 2,600 ปี ในวันวิสาขบูชา ปีพุทธศักราช 2555 หน่วยงานภาครัฐและองค์กรทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้มีความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นพิเศษ ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานหลัก ที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ มีความมุ่งมั่นที่จะจัดงานถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นอำนวยประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ ครบ 2,600 ปี ในปีพุทธศักราช 2555 นับจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ โดยเน้นบูรณาการการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงสั่งสอนสู่ประชาชนทุกเพศทุกวัยอย่างกว้างขวาง รวมถึงกำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ.2555 อย่างถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับมติมหาเถรสมาคม
แนวคิดในการจัดงาน
จัดงานในนามของรัฐบาลไทย โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ชาวพุทธนานาชาติรู้จักประเทศไทย ขณะเดียวกัน ที่สำคัญ ก็คือจะต้องทำให้ชาวพุทธในเมืองไทย เกิดความตื่นตัวมากขึ้นด้วย โดยมีองค์กรต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อน พร้อมทั้งเชิญชวนแขกของรัฐบาล และผู้นำชาวพุทธนานาชาติเข้าร่วมงาน และขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีส่วนร่วมในการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ใช้สถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ โดยกำหนดให้ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นศูนย์กลางการจัดงาน และสถานที่จัดงานอื่นๆ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกิจกรรม อย่างเป็นเอกภาพพร้อมเพรียง ในการเฉลิมฉลองสัมพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้
รูปแบบของการจัดงาน 3 ด้าน ประกอบด้วย
(1) ด้านการกิจกรรมปฏิบัติบูชา
(2) ด้านการจัดประชุมสัมมนาวิชาการ
(3) ด้านการจัดกิจกรรมเชิงพุทธศิลปวัฒนธรรม
(1) การจัดกิจกรรมปฏิบัติบูชา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน และมุ่งให้มีการฟื้นฟูวิถีชาวพุทธตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชนอย่างจริงจัง และให้เกิดการสืบต่ออย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเป็นวิถีชีวิตอย่างแท้จริง อันจะเป็นการเสริมสร้างความรักและสามัคคี เกิดการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมและประกาศเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า
(2) ด้านการจัดประชุมสัมมนาวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักในการจัดประชุมสัมมนาวิชาการทั้งนานาชาติ และการประชุมสัมมนาวิชาการภาคภาษาไทย โดยให้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนสาขา พระพุทธศาสนา เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ในการสัมมนาทางวิชาการ (ภาคภาษาไทย) โดยหัวข้อการสัมมนา เป็นเรื่องราวพระพุทธศาสนากับศาสตร์ต่างๆ เช่น พระพุทธศาสนากับสันติภาพ พระพุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น หรือเป็นการบรรยายธรรมสัญจร โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการประชุมทางวิชาการ ทั้งนี้ ให้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง และใช้ช่องทางการสื่อสารทุกช่องทางให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเริ่มการจัดการสัมมนาทางวิชาการ
(3) การจัดกิจกรรมเชิงพุทธศิลปวัฒนธรรม ให้กระทรวงวัฒนธรรม รับเป็นเจ้าภาพในการจัดหาการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม และการแสดงภาพยนตร์เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการแสดงอันบ่งบอกถึงการส่งเสริมและประกาศสรรเสริญพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า เป็นการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศบนเวทีนานาชาติ ให้เกิดความยิ่งใหญ่ในการจัดงานวิสาขบูชาโลก สืบสานการจัดงานให้คงอยู่สืบไป โดยการจัดงานให้มีการจัดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และควรขยายกิจกรรมการจัดการประกวดบรรยายธรรม และการประกวดสวดมนต์หมู่ให้แพร่หลายทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว พร้อมทั้งประสานกรุงเทพมหานครจัดขบวนรถประดับประดาด้วยดอกไม้ (รถบุปผชาติ) ประดับไฟ และประชาชนร่วมกันประดับธงชาติ ธงสัญลักษณ์ตามบ้านเรือน และสถานที่สำคัญ ให้มีความยิ่งใหญ่ และสวยงาม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและให้เกิดความรับรู้ของสังคม
ตอบคำถามประเด็นคำถาม :
1. ความคืบหน้าของการดำเนินงานจัดงานฉลองสัมพุทธชยันตี 2,600 ปี รายละเอียดเป็นอย่างไร จัดขึ้นที่ไหน ใช้งบประมาณเท่าไหร่ และมีความสำคัญกับพระพุทธศาสนาอย่างไร
ตอบ :
- ความคืบหน้าของการดำเนินงานจัดงานฉลองสัมพุทธชยันตี 2,600 ปี มีรายละเอียด ดังนี้
รัฐบาล ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการนำเรื่องการจัดงานฉลองสัมพุทธชยันตี เสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคม ด้วยพิจารณาเห็นว่า วันวิสาขบูชา ประจำปีพุทธศักราช 2555 เป็นอภิลักขิตกาลที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ 2,600 ปี นับเป็นวโรกาสมหามงคลพิเศษที่นำความปลาบปลื้มปีติมาสู่มวลมนุษย์พุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลก เรียกว่างานฉลองสัมพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ซึ่งประชุมมหาเถรสมาคม ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดงาน ตามข้อเสนอของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีแนวทางการจัดงานดังนี้
(1) ให้รัฐบาล และคณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคม เป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้มีคณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วย มหาเถรสมาคม เป็นที่ปรึกษา, นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน, ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ, ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและอธิบดีกรมการศาสนาเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล
(2) เห็นชอบกรอบแนวทางการจัดงาน และผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการศึกษา การเผยแผ่ ปฏิบัติบูชา ที่มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการศึกษา การเผยแผ่ การปฏิบัติบูชาและการมีส่วนร่วมและประชาชนในการจัดงานฉลองสัมพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ด้านวิชาการ จัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพุทธประวัติ หลักธรรมคำสอน โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลัก ด้านกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม มีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับเครือข่าย เช่น มูลนิธิ หอจดหมายเหตุ เป็นต้น
(3) ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการประสานจัดกิจกรรมและการประชาสัมพันธ์และเผยแผ่
-จัดขึ้นที่ไหน ใช้งบประมาณเท่าไหร่
จัดทั่วประเทศและวัดไทยในต่างประเทศ โดยมีศูนย์กลาง ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และสถานอื่นๆ ประกอบด้วย สนามหลวง, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, สยามพาราก้อน เป็นต้น
ใช้งบประมาณ (งบกลางจากรัฐบาล) ในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ใช้งบประมาณประมาณ 130 ล้านบาท
- มีความสำคัญกับพระพุทธศาสนาอย่างไร
มีความสำคัญในฐานะเป็นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครบ 2,600 ปี ในปีพุทธศักราช 2555 นี้ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นจุดกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักคำสอนอันประเสริฐ ส่งเสริมให้มวลมนุษย์มีสันติสุขและสันติภาพ ดังนั้น การจัดงานฉลองเนื่องในอภิลักขิตกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ 2,600 ปี จึงเรียกว่าสัมพุทธชยันตี จึงเป็นการส่งเสริมให้ชาวพุทธทั่วโลก ได้ตระหนักที่จะนำหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และตรัสสั่งสอนมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวัน และประการสำคัญการจัดงานฉลองสัมพุทธชยันตีในปีนี้ ก็เพื่อให้ชาวพุทธทุกเพศทุกวัยได้รู้จัก เข้าใจ เข้าถึงหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
-----------------------------------------------------------