ธรรมาธิปไตย ต่อการบริหารและการตัดสินใจ
เรียบเรียงโดย นายมนัส ศรีเพ็ญ กรรมการเลขาธิการสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ
คำปรารภ
คนไม่น้อย พูดกันบ่อยว่า ให้วิกฤตเป็นโอกาส แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นจริง
ก็มักลืมคตินี้ไป หาได้ประโยชน์จากวิกฤตนั้นไม่ หลักพระพุทธศาสนาสอนว่า บรรดาการสูญเสียทั้งหลาย
การสูญเสียที่เลวร้ายที่สุด คือการสูญเสียทางปัญญา และในทางตรงข้าม
บรรดาการได้เพิ่มขึ้นมา การได้เพิ่มซึ่งปัญญา เป็นการได้ที่เลิศสุด โดยนัยนี้ บรรดาประโยชน์ทั้งหลายที่จะได้จากโอกาสแห่งวิกฤตไม่มีประโยชน์ใดยิ่งใหญ่กว่าการได้ปัญญา
ในโอกาสนี้ ขอร่วมตั้งใจปรารถนาดี ให้ทุกท่านตั้งอยู่ในธรรม
และประสบประโยชน์สุขจากการดำเนินตามธรรม
และให้ผู้ร่วมสังคมเห็นทางนำประเทศชาติให้ดำเนินสู่ความสงบสุขโดยธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป. อ. ปยุตโต )
๒๒ มีนาคม ๒๕๔๙
เมื่ออ่านแล้วเห็นว่าเนื้อหาคำตอบของพระอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต) จะเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการหรือผู้บริหารงานในสถาบัน, องค์กรได้นำมาฝึกสติบัญญาในการตัดสินใจที่เป็นกุศลต่อส่วนรวมและเกิดความสมานฉันท์ จึงขอนำคำสอนที่พระอาจารย์กล่าวไว้ กับนำเอาเนื้อหาความรู้จากที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางเรื่องที่พบเห็นเป็นหลักการที่ดี แต่กลับพบว่าหลายคนหรือหลายองค์กร ที่ตนได้พูดไว้ หรือหลายๆองค์กรที่เขียนหลักการนั้นๆไว้ ต่างไม่ได้นำไปใช้ปฏิบัติ เช่นเดียวกับระเบียบหรือกฎหมายที่เขียนกำหนดไว้ดูเป็นธรรม แต่ไม่สามารถบังคับใช้กับคนบางกลุ่มได้ ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพียงขอนำเอามาเป็นประโยชน์ทางปัญญาก็แล้วกัน นอกจากนี้ก็ขอเสริมความเห็นส่วนตัวลงไปบางเรื่อง ก็เพื่อเรียบเรียงใหม่ให้เข้ากับหัวข้อเรื่องที่นำเสนอว่า
ธรรมาธิปไตย ต่อการบริหารและการตัดสินใจ
หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ขอนำบทความจากมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด เพื่อส่งเสริมให้การบริหารเพื่อพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของหลักสำคัญอย่างน้อย 6 ประการ คือ
1. หลักนิติธรรม ได้แก่มีกฎข้อบังคับต่างๆที่ทันสมัยและเป็นธรรม ถือเป็นการปกครองภายใต้กฎระเบียบ มิใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของตัวบุคคล
2. หลักคุณธรรม ได้แก่ส่งเสริมคนดี คนเก่งเข้ามาบริหาร มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทนมีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจำชาติ
3. หลักความโปร่งใส ได้แก่สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีการประพฤติ ปฏิบัติที่โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร มีกระบวนการให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ง่าย ชัดเจน
4. หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่เปิดโอกาสให้ทุกบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และเสนอความเห็นและเข้ามาบริหาร เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง
5. หลักความรับผิดชอบ ได้แก่การตระหนักในหน้าที่ สำนึกในความรับผิดชอบ ใส่ใจปัญหากระตือรือร้นในการแก้ปัญหา กล้าที่จะรับผลจากการกระทำของตน
6. หลักความคุ้มค่า ได้แก่การบริหารทรัพยากร ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวมตามลำดับความสำคัญ มีความประหยัด ใช้อย่างคุ้มค่า แบบเศรษกิจพอเพียง รักษาพัฒนาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์
สังคมไทยขาดการศึกษาข้อมูลให้เพียงพอ
ผู้บริหารที่เข้าประชุมก็นัวเนียกันอยู่กับเรื่องความเห็น
ชอบให้ความเห็นตามความรู้ที่ตัวมี
แต่ไม่เคยเรียนรู้หรือหาความรู้ เพราะทุกเรื่องมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ประกอบ
แต่เมื่อมีความรู้มักจะเข้าข้างตัวเองตามที่ตนชอบ เช่น
อันตรายจากกระแสไฟฟ้าทำให้คนตายได้
จึงไม่ควรเข้าใกล้อุปกรณ์ที่มีไฟฟ้าหรือหลายคนได้เอามาใช้ตามๆกันไปอย่างประมาทจนเสียชีวิต ดังนั้นหากเราเรียนรู้
เราก็จะสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์โดยมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายได้ เป็นต้น
การบริหารหรือระบบการปกครอง มีองค์ประกอบสำคัญ คือ อำนาจตัดสินใจ การปกครองระบอบต่างๆ อยู่ที่ว่าอำนาจตัดสินใจสูงสุดอยู่ที่ใคร
ถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่บุคคลผู้เดียว ก็เป็น เผด็จการ
ถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่คณะบุคคล ก็เป็น คณาธิปไตย
ถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ผู้ร่วมงานทั้งหมด หรือประชาชน
ก็เป็น ประชาธิปไตย
การบริหารหรือทำงานร่วมกันในหมู่คณะจึงต้องมีองประกอบอย่างหนึ่งที่เรียกว่า " สมานฉันท์ " แปลว่ามีความต้องการตรงกัน
ถ้าคนทำงานมีความต้องการไม่ตรงกัน มันก็ไปกันไม่ได้ ดังนั้นสมานฉันท์ ซึ่งเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสามัคคี คือ ความพร้อมเพรียงเกิดขึ้นมา
แต่ความต้องการที่ตรงกันต้องการธรรม ต้องการความถูกต้อง ดีงามในทุกคนคือ คิดดี พูดดี ปฏิบัติดี ต้องการให้เกิดประโยชน์สุขของสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
แม้แต่ในด้านรูปธรรมก็คือต้องการระบบที่จะให้ทุกคนมีส่วนร่วม ถ้าอย่างนี้
ก็เป็นสมานฉันท์
เป็นความสามัคคีในหมู่คณะ
สรุปจะทำให้สมานฉันท์ ก็ต้องไปทำให้ทุกคนทุกฝ่ายมีความต้องการตรงกัน
ต้องชัดก่อนว่า ความต้องการอะไร ที่จะต้องให้มีตรงกัน เสมอเหมือนกัน
สังคมการบริหารของไทยต่างคนเข้ามาต่างก็มีอัตตา ยิ่งผู้มีโอกาสได้ตำแหน่งมีอำนาจในการบริหารเป็นผู้ถือตัวว่าตนเป็นผู้มีความรู้สูงและจบมาจากนั้นจากนี้ ก็เหิมไปบ้าง
สงวนท่าที่ด้วยกลัวว่าตัวจะเสียท่าบ้าง
หรือจะเสียหน้าแก่พวกโน่นนี่ เมื่อมีอัตตาแรง ก็เลยทำให้การทำงานไม่ได้ผลดี
คือไม่สมานฉันท์ ไม่สามัคคี ต่างคนต่างมองตัวเองว่าฉลาดกว่า
ดังคำกล่าวของพระอาจารย์ พุทธทาสภิกขุ สอนให้มองคนอื่นในแง่ดี ว่า
เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่ เป็นประโยชน์ โลกบ้าง
ยังน่าดู ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ของเขาเลย จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยวค้นหา
สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเอย ฝึกให้เคยมองแต่ดี มีคุณจริง
ถ้าคนมีธรรมมาธิปไตย ก็หมดปัญหา เพราะจะไม่มาถือพรรค ถือพวก ถือกลุ่ม
ถือแหล่ง ถือสถาบันอะไร ถือทิฐิของตัวเอาผลประโยชน์ของตัวเป็นใหญ่ แต่ถ้ามุ่งหามุ่งเรียนรู้
มุ่งให้ถึงธรรม เพื่อเอาธรรมเป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินใจ
จะข้ามพ้นการถือตัวถือพวกไปได้หมด
ธรรมมะคือความจริงความถูกต้องดีงามและประโชยน์สุขที่แท้ ไม่ใช่เห็นว่าเราจะได้ประโยชน์ หรือเราจะเสียประโยชน์
จึงเลือกเอาเรื่องที่ตนต้องการอย่างนี้ไม่เป็นธรรมมาธิปไตย
ปัจุบันสังคมไทยเสื่อมทรุดลงไปจากธรรมะอย่างหนัก ในสถาพที่เสื่อมอย่างนั้น
กลับมีกระแสนิยมด้านการเอาตัวลอด ก็ส่อว่าคนแทบจะไม่เอาธรรมมาธิปไตยกันแล้ว
และก็เป็นเครื่องบ่งบอกว่าการฟื้นฟูศีลธรรม ที่เป็นงานให้แก้จะหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นหากแม้แต่องค์กรสัมมาชีวศิลปที่มุ่งมั่นมาในอดีต
หากการปกครองบริหารจากคนคนเดียว
ที่เรียกว่าระบบเผด็จการก็อาจเป็นธรรมาธิปไตยได้ อยู่ที่เกณฑ์การตัดสินใจของผู้มีอำนาจคนนั้น
ว่าเอาหลักอะไรมาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ
ซึ่งจะเป็นอัตตาธิปไตยได้.
เป็นโลกาธิปไตยได้, เป็นคณาธิปไตย
หรือเป็นประชาธิปไตยก็ได้ทั้งนั้น
แต่จะมีเครื่องมือชี้วัดได้อย่างไร?
ว่าจะมั่นคงยั่งยืนไปทุกเรื่องนี้คือปัญหา
ถ้าคนนั้นเอาตัวเอง เอาความมีตำแหน่งยิ่งใหญ่ของตน เอาความทะนงตัว
เอาทิฐิความเห็นความเชื่อยึดถือส่วนตัว เอาผลประโยชน์ของตนเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ
ก็เป็นอัตตาธิปไตย
ถ้าตัดสินใจไปตามกระแสความนิยม เสียงเล่าลือ
หรือแม้แต่ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง คอยฟังว่าใครจะว่าอย่างไร
อย่างที่ว่าแล้วแต่พวกมากลากไป หรือตามแรงกดดัน จะเอาใจเขา จะหาคะแนนนิยม
หรือตอบแทนการเอื้อประโยชน์ ก็เป็นโลกาธิปไตย
ถ้าเอาความจริงความถูกต้องดีงาม หลักการ กฎระเบียบ กติกา เหตุผล
ประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิตและสังคม เป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยใช้ปัญญาหาข้อมูล
ตรวจสอบข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่รับฟังอย่างกว้างขวาง ให้ถ่องแท้ ชัดเจน
และพิจารณาอย่างดีที่สุด เต็มขีดแห่งสติปัญญาจะมองเห็นได้ด้วยความบริสุทธิ์
ก็เป็นธรรมมาธิปไตย
เมื่อเราดูว่าเอาระบบประชาธิปไตย
ก็คือให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารและส่วนร่วมที่จริงที่แท้
ก็คือส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยมีอำนาจตัดสินใจด้วยเช่นเดียวกันทุกคน (
บางครั้งบอกว่าให้มีส่วนร่วม แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจด้วยเพราะมีผู้มีอิทธิพลครอบงำอยู่เบื้องหลัง
แล้วการมีส่วนร่วมนั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร !!!! )
เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทุกคนต้องเป็นธรรมาธิปไตย ดังนั้น ทุกคนต้องตัดสินใจด้วยธรรมะ
การปกครองหรือการตัดสินใจต้องมีการศึกษาข้อมูลที่แท้ ก็จะมีคุณภาพ
คือดีทั้งด้านปัญญา และดีทั้งด้านเจตนา
มีเกณฑ์การพิจารณาด้านการใช้ปัญญาและการศึกษาดังนี้
มีปัญญาดี คือ ศึกษาเรียนรู้จนเข้าใจเท่าทันข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ รู้จักคิด มีเหตุผล มีวิจารณญาณ แยกแยะได้ว่า อะไรเป็นความจริง ถูกต้องในทางที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลสร้างสรรค์ เริ่มแต่หมายมั่นทำหน้าที่ของตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
การศึกษา ที่มุ่งมั่นกันว่าต้องให้เด็กมีปัญญา แต่ที่จริงก็ไม่ได้ปัญญาอย่างเกณฑ์ที่กล่าวมา เป็นเพียงการเรียนรู้ในวงจำกัด ส่วนแคบๆ แบบนกแก้วนกขุนทอง ไม่มีการฝึกให้เป็นผู้คิดวิเคราะห์ เลือกเรียนรู้แต่มุมเดียวในส่วนที่ดี ไม่มีปัญหา แต่ไม่เคยให้เรียนรู้ด้านปัญหา คือเด็กเรียนแล้วต้องตอบถูกต้องตามที่ครูสอนเสมอ ผิดไม่ได้ถือเป็นข้อปกพร้อง ทำให้เด็กเกิดความเครียด และหมดหวังกำลังใจที่จะเรียนต่อไป การเรียนก็จะเอาประกาศปริญญาบัตร มีทักษะจำเพาะส่วนที่จะไปทำงานอาชีพ แต่ความมีเหตุผล มีวิจารณญาณ กล้าแสดงออก ไม่ได้ฝึกกัน
ส่วนด้านที่สอง คือเจตนาหรือเจตจำนง มักจะเลือนลางหรือขาดพร่อง
ขาดจิตสำนึกที่จะให้เจตนาตั้งแน่วมุ่งไปในทางศีลธรรม แทนที่จะมีเจตนาเป็นกุศล
กลับตรงข้าม คือการศึกษาสอนให้มีการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น
มักเป็นไปในทางคิดจ้องหาผลประโยชน์ให้แก่ตน มุ่งจะเสพบริโภคบำรุงบำเรอ
ฟุ้งเฟ้อหลงความโก้เก๋ ฮือเฮไปตามกระแส มีความคิดผิวเผินแค่สนองค่านิยม ตอกย้ำกันแต่อัตตาธิปไตยและโลกาธิปไตย
ถ้าคนเป็นผู้ที่พัฒนาแล้วด้วยการศึกษา มีทั้งปัญญาและเจตนาที่ดี
ก็มั่นใจได้ว่าเขาจะเป็นผู้ใช้อำนาจตัดสินใจที่เป็นธรรมาธิปไตย ในตัวคนนั้นๆ
สรุปว่าถ้าเจตนาดีแล้วมีปัญญาด้วย ก็เป็นผู้ตัดสินใจได้ผลดี แต่ถ้ามีปัญญา
แต่เจตนาไม่ดี ก็จะนำปัญญาไปใช้หาผลประโยชน์ให้แก่ตัวและทำร้ายผู้อื่น ถ้าเจตนาดี แต่ปัญญาไม่มี
ก็จะตัดสินใจผิดพลาดโดยรู้ไม่เท่าถึงการณ์
นี่เป็นจุดบรรจบของระบบการบริหารกับธรรมะ คือ ความจริงความถูกต้องดีงาม
ที่เป็นหลักทั่วไป
ธรรมมาธิปไตย
ไม่ใช่ระบบการปกครองประชาธิปไตย
แต่เป็นคุณธรรมหรือคุณสมบัติในตัวคน
ผู้บริหารปกครองที่เข้าถึงธรรม อยู่กับธรรม โดยมีปัญญารู้ธรรม
และเจตนาเป็นธรรม จะมีความมั่นใจที่จิตได้สงบ ซึ่งเป็นความมั่นคงที่แท้จริง
จะใสสว่างสะอาดสงบ ไม่หวั่นไหวและมีความสุขที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง
ผู้บริหารกิจการไม่ว่าในระดับใดๆ ก็ตาม จะประสบความสำเร็จแท้จริงได้
เป็นนักบริหารสมบูรณ์ ต่อเมื่อบริหารตลอดลงไปถึงกระบวนธรรมชาติที่ว่านี้
ให้กลมกลืนเป็นองค์รวมที่บูรณาการทั่วตลอด แม้จะเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง
ถึงขั้นวิกฤต นักบริหารที่มุ่งธรรม
ก็จะใช้ปัญญามองเป็นโอกาสที่จะก้าวไปสู่ความสมบูรณ์ในการเข้าถึงบูรณภาพแห่งธรรม
เพราะจะได้สามารถสำรวจตรวจสอบมองเห็นจุด
เห็นแง่ที่ยังขาดยังพร่องที่จะได้แก้ไขจัดปรับให้สมบูรณ์
เขาจึงไม่ปฏิบัติการเชิงลบ ที่จะสูญเสียหรือทำลายพลังงานด้วยการวิวาทต่อกรพยายามเอาชนะ
เมื่อตั้งสติและดำรงขันติได้
ผ่านพ้นอารมณ์ความรู้สึกขุ่นเคืองเป็นต้นไปแล้ว พอก้าวสู่การใช้ปัญญา
เขาจะขอบใจพวกคนที่มาชี้โทษให้ แล้วใช้โอกาสและพลังงานในทางสร้างสรรค์ให้เต็มที่
แล้วเขาจะก้าวสูงขึ้นไป พร้อมด้วยชัยชนะแท้ ที่ทุกฝ่ายได้ด้วยกัน
และความเป็นฝ่ายละลายหายไปและทุกอย่างดีขึ้น คือชัยชนะแห่งธรรม
ดังคำสอนของพระมหา ดร.ทองแก้ว พูดว่า ถ้าแย่งกันทำความดี จะไม่ได้ดีสักคน
แต่ถ้าแบ่งกันทำความดี จะได้ดีทุกคน
เพื่อเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของคนส่วนใหญ่ได้อย่างถูกต้อง คนที่ไม่มีธรรมอาจจะรู้เรื่องจำเพราะเจาะลึกกว่า
เพราะได้ศึกษาไว้ อาจจะครุ่นคิดเรื่องแคบมุ่งแค่เอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง
อาจถูกสถานการณ์บีบให้ใจรุ่มร้อนขัดเคืองเครียดแล้วคิดไม่ชัดไม่รอบคอบ
แต่คนที่มีธรรมจะเห็นอะไรๆ กว้างขวางครอบคลุมกว่า จะมุ่งแก้ปัญหากว่าการเอาชนะ มีใจสงบโล่งโปร่งคิดและมองได้ทั่วตลอดกว่า
จึงเป็นผู้มีสติปัญญาที่จะเพิ่ม
-
สังคมไทยเต็มไปด้วยค่านิยมฟุ้งเฟ้อ ชอบโก้เก๋อวดกัน ฉาบฉวย อ่อนแอ
ขาดความใฝรู้ ไม่มีวัฒนธรรม แสวงปัญญา
- สังคมไทยลุ่มหลงบริโภคนิยม เอาแต่เสพบริโภค
ไม่มีนิสัยเป็นนักผลิต
-
คนไทยมักตื่นอยู่แค่คอยตามกระแสความเจริญของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น
ตามฝรั่ง เห่อญี่ปุ่น มีโลกทัศน์แคบและวิสัยทัศน์จำกัด
ขาดความรู้เท่าทันและความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นไปสู่การแก้ปัญหาของโลกและการสร้างสรรค์เพื่อมนุษย์ชาติ
-
คนไทยมากมายหมกมุ่นในกาม
ปล่อยตัวมัวเมาในเรื่องเพศและประดาอบายมุขจนสุดโต่งยิ่งกว่าวัฒนธรรมนอกที่ตนชอบตามอย่าง
- วัฒนธรรมไทยเสื่อมถอยรวดเร็ว
จิตใจคนเหี้ยมหินลงไป อาชญากรรมรุนแรงแพร่ระบาดอย่างที่แทบจะคาดคิดไม่ถึง
- ปัญหาวัยรุ่นหนักหนา ทั้งเรื่องเพศ
เรื่องความรุนแรง ความเสื่อมด้อยในด้านการศึกษา
เกิดปัญหาสุขภาพจากความหมกมุ่นมัวเมาดำเนินชีวิตผิด เช่น
เป็นโรคอ้อนแต่เด็กมากขึ้นๆ
- คนไทยมักไม่รู้จักใช้เทคโนโลยี
เอาประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลไม่ได้ แต่ใช้เทคโนโลยีและเสพข้อมูลในทางทื่เกิดโทษ
-
การทุจริตฉ้อราษฎรบังหลวงในรูปแบบหลากหลายนับวันยิ่งระบาดแพร่ขยายจนกลายเป็นเหมือนของปกติสามัญ
ต้องยอมรับว่าสภาพผุโทรมของสังคมปัจจุบัน
เป็นมูลเหตุอยู่เบื้องหลังวิกฤตการเรียกร้องต่างๆ
โดยอ้างสิทธิ์และความเป็นประชาธิปไตยต่างๆนาๆ ที่กำลังเผชิญอยู่
มันเป็นวิกฤตทางสังคมที่ยืดเยื้อและเป็นวิกฤตที่ลึกลงไปในวิถีชีวิตจิตใจของคน
เป็นวิกฤตแห่งคุณภาพของคนไทย
ทั้งที่สภาพปัญหาเหล่านี้เกาะกินสังคมอย่างหนัก แต่มันก็ถูกละเลย อย่างดีก็แค่แตะปัญหากันมาทำอย่างผ่านๆ
ผิวเผิน ปล่อยให้มันสะสมตัวจนกลายเป็นวิกฤตลึกที่แก้ไขยุ่งยากมากขึ้น
ถ้าวิกฤตลึกยังมีอยู่ เราจะมีประชาธิปไตยที่น่าภูมิใจได้หรือ
มันจะเป็นประชาธิปไตยคุณภาพต่ำแบบมั่วๆ ตามที่พระเจ้าอยู่หัวดำรัสไว้ แล้วประเทศไทยก็จะเป็นเหยื่อในโลกแห่งทุนนิยม
ที่ถูกพัดพาไปในกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นสังคมที่ถูกกระทำ
ไม่สามารถเป็นผู้นำที่มีอะไรให้แก่อารยธรรมของโลกอีกต่อไป
ถ้าจะใส่ใจแก้ปัญหาและเข้มแข็งในการสร้างสรรค์จริง
ผู้มีหน้าที่บริหารปกครองจะต้องเรียกร้องแนะนำเอาจริงเอาจังให้สังคมต้องมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาวิกฤตลึกนี้
จะต้องเรียกร้องและเร่งรัด ให้มีการพัฒนาคุณภาพคนไทยอย่างจริงจัง ที่จะช่วยให้สังคมไทยไม่ต้องมาหวาดหวันเสี่ยงภัยกับปัญหาอย่างนี้อีก กับทั้งให้สามารถมีความภูมิใจมั่นใจในประเทศชาติของตน ว่ามีสังคมที่เจริญมั่นคง อันเอื้อต่อการพัฒนาของชีวิตจิตปัญญา โดยมีประชาธิปไตยที่ควรแก่ความหมายอย่างแท้จริง.
--------------------------------------------