จารึกในพระคุณ

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ นาครทรรพ

เมื่อถึงวันชีวินต้องสิ้นสูญ                          ทรัพย์มากมูลใครเล่าเอาไปได้
คงมีแต่กุศลกรรมอันอำไพ
                              ที่ติดตามไปในปรภพ
เวลาในชีวิตนี้ ไม่มีมาก
                                    เกิดก็ยาก ตายแล้วไม่แคล้วศพ
เราเร่งทำกรรมดีมีครันครบ
                            ยามต้องจบชีพเมื่อใดไม่หวันเอย

ศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ นาครทรรพ  อดีตประธานกรรมการสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ ผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากหน่วยราชการและองค์กรทางการศึกษาต่างๆ ให้เป็น
ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยและวรรณกรรม, ด้านศาสนาและจริยศึกษา, ด้านวัฒนธรรมและการเผยแพร์เอกลักษณ์ของไทย   

ศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ นาครทรรพ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔  ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นธิดาคนแรกของพระยาอมรฤทธิธำรง ( พร้อม ณ ถลาง ) และคุณหญิงอมรฤทธิธำรง ( ตริ บุณยภักดิ์ )

ชื่อ “ฐะปะนีย์ ” บิดาพระยาอมรฤทธิธำรงเป็นผู้ตั้งชื่อให้ มีความหมายว่า “ ตั้งไว้ด้วยดี ” และเขียนบทกลอนดอกสร้อยประกอบไว้ดังนี้

ฐะเอ๋ย ฐะปะนีย์                                   กำเนิด ณ วันอาทิตย์เดือนหก

แรมแปดค่ำวันอุตม์พุทธศก     สองสี่หกสีปีระกา

นับตามสุริยคตินิยม                 พฤษภาคมยี่สิบเก้าสิหนา

ป่ายโมงยี่สิบเอ็คตรงเวลา        เป็นธิดา ณ ถลาง บุณยภักดิ์เอย    

ศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ ฯ สมรสกับ ดร.อรรถ นาครทรรพ อดีตศาสตราจารย์ ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบุตรธิดา ๔ คน ๑ ชื่อคุรุจิต ๒ ชื่อปฤชญีน ๓ ชื่อสีลาภรณ์ ๔ ชื่ออมรวิชช์   

ศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ ฯ  ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๐๐ น. สิริอายุ ๘๙ ปี วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมด้วยโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจาตั้งประดับ ปี่ กลองชนะประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด ๓ คืน ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ฯ  คืนวันอังคารที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และทรงวางพวงมาลา

 คืนวันต่อมาบุตรธิดา ก็ได้จัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศลและสวดพระอภิธรรม ต่ออีก ๔ วันและบรรจุศพไว้ จนถึงวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพครั้งนั้นด้วย .

 ศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ ฯ เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนศึกษากุมารี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำในเครือคริสตจักรของคณะมิชชันนารีเพรสไบ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ พ.ศ.๒๔๗๗ ( เป็นครังแรกที่ท่านเริ่มสนใจแต่งบทกลอน ชื่อ ผ้าดำ – ผ้าขาว ด้วยแรงบันดาลใจจากคุณครู และอิทธิพลจากคำสอนในศาสนาคริสเตียนเรื่องความดี ความชั่ว )  ต่อมาย้ายเข้ากรุงเทพฯและเข้าเรียนชั้น ม. ๖ ที่โรงเรียนสตรีจุลนาค พ.ศ.๒๔๗๘ เรียนได้เทอมเดียวก็ย้ายไปเรียน ชั้น ม. ๖ และ ม. ๗ แผนกวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ท่านได้จับกลุ่มกับเพื่อนตั้งชื่อ คณะ “ ว ๑ ธันว์ ๗๙ ” มีการตั้งนามแฝงเพื่อนทั้ง ๗ คน      “ แวว วุฒิ  วีร์  วิทย์  เวทย์  ไวทย์ ( ฐะปะนีย์ )  วิม ”  เมื่อชั้น ม.๘ ต้องไปเรียนที่โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็น ม.๘ รุ่นแรกของสวนสุนันทาฯ แต่ด้วยสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ จึงเข้าเรียน ม. ๖ ซ้ำที่โรงเรียนราชินีบน ได้เรียนภาษาอังกฤษกับคุณครูยสวดี อัมพรไพศาล ( ท่านผู้หญิงยสวดี อัมพรไพศาล )  ก็รู้ตัวว่าชอบเรียนภาษามากกว่าวิทยาศาสตร์ จึงสามารถสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คราวนี้  และได้รับพระกรุณาของท่านอาจารย์หม่อมเจ้าหญิงวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล ทรงอนุญาตให้พักอยู่ที่หอพักของโรงเรียนฯ ระหว่างที่เรียนมัธยมปีที่ ๘ และยังทรงอนุญาตให้อยู่ได้ต่อไปตลอด ๔ ปี ที่เรียนในคณะอักษรศาสตร์ ระหว่างอยู่ในหอพักท่านได้ช่วยสอนภาษาไทยให้กับนักเรียนชั้น ม.๖ พิเศษ ( นับว่าท่านได้แสดงความเป็นครู ตามที่คุณพ่อท่านได้มองเห็น จนนักเรียน ม.๖ ต่างเรียกว่า “ครูพี่ฐะ ” )

ต่อมาเมื่อท่านจบปริญญาตรีทางอักษรศาสตร์และเรียนวิชาครูอีก ๑ ปี ได้รับอนุปริญญาประโยคครูมัธยมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ แล้วกลับบ้านที่นครศรีธรรมราช คุณพ่อพระยาอมรฤทธิธำรง ซึ่งเข้าไปช่วยเป็นผู้บริหารโรงเรียนมิชชันนารีสองแห่ง จึงทำให้ท่านได้กลับไปเป็นครูประจำชั้น ม.๖ โรงเรียนศึกษากุมารี โรงเรียนเก่าในช่วงปีพ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๘  ก่อนที่จะลาออกไปรับราชการครูในโรงเรียนรัฐบาลและได้รับทุนกระทรวงศึกษาธิการไปเรียนปริญญาโทในวิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ณ ที่นี้ท่านอาจารย์ฯ ก็ได้พบกับดร.อรรถ นาครทรรพ เมื่อกลับมาประเทศไทยจึงได้สมรสเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘  

ศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ ฯ หลังจากสำเร็จปริญญาโท ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารโรงเรียนหลายโรงเรียนและเป็นคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรการสอนจากกระศึกษาธิการอยู่หลายโครงการ จนได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ ปี พ.ศ.๒๕๐๑ ถึง พ.ศ.๒๕๑๕  จึงได้ไปรับเป็นอาจารย์ชั้นพิเศษและศาสตราจารย์ ในภาควิชามัธยมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนเกษียณอายุ   จึงนับได้ว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลด้านพัฒนาครูและผลิตครู อีกด้วย

ศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ ฯ ได้ให้ความอนุเคราะห์แก่สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ และโรงเรียนสัมมาชีวศิลปทั้งสองแห่ง ตามที่พระยาอัมรฤทธิธำรง บิดาท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง โดยรับเข้ามาเป็นกรรมการสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ฯ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๔ และรับเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯและผู้แทนผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนสัมมาชีวศิลป ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ จนปี พ.ศ.๒๕๔๕ จึงได้ขอลาออก แต่ก็รับเป็นประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สัมมาชีวศิลป ฯ โดยคอยติดตามสอบถามและให้คำแนะนำต่อกิจการของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิและโรงเรียนฯ มาตลอดจนถึงแก่อนิจกรรม

ตลอดเวลา ๔๙ ปี ได้ให้ความอนุเคราะห์แก่สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ฯ และเป็นผู้นำในการบริหาร ยังความเจริญก้าวหน้าของโรงเรียนฯ หลายๆ ด้านโดยเฉพาะการพัฒนาวิชาการศึกษา โดยมิได้ต้องการค่าตอบแทนใดๆ แต่ท่านกลับได้เสียสละทรัพย์บริจาคเป็นทุนให้ไว้ ๒ ทุนเป็นประจำปีมายาวนาน  คือ ทุน “ อมรฤทธิธำรง ณ ถลาง ”  และทุน “ อรรถ – ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ” ซึ่งยังอยู่คู่กับสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ และจารจารึกในพระคุณตลอดไป

ขออานิสงส์แห่งคุณความดีอันบริสุทธิ์ที่ท่านได้ถือปฎิบัติมาโดยตลอดชั่วชีวิต  จงเป็นพลวปัจจัยดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ นาครทรรพ ประสบแต่ความสุขสงบในสัมปรายภพตลอดกาลนานด้วยเทอญ.  

 

เอกสารที่มา:  หนังสือ “ ในความทรงจำ ”อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ นาครทรรพ ม.ว.ม., ป.ช., จ.ภ.