ข่าวจากเว็ปไซต์ รักเด็ก.คอม http://www.rakdek.com/
คณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ สำหรับแก้ปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส
27 กุมภาพันธ์ 2548 .......
ผลวิจัยการศึกษาไทยเหมือนโรงงานปั๊มคน
ตกต่ำทุกด้านต้องยกเครื่องใหม่หมด เสนอ 4 ร. ให้รัฐแก้ไขรศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการเปลี่ยนผ่านการศึกษาเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยเรื่องดังกล่าวในรอบระยะเวลา 6 เดือนแรก พบว่า การศึกษาไทยยังไม่พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ เนื่องจากขาดการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการสร้างความรู้อย่างจริงจัง การสร้างสรรค์มีน้อย คุณภาพไม่โดดเด่น การเห็นแก่ส่วนรวมและรักษ์ความเป็นไทยก็มีน้อยมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าการสารสนเทศก็ยังอยู่ในระดับต่ำและการใช้เทคโนโลยีก็ยังมีอยู่น้อย ทั้งๆ ที่การรู้สารสนเทศเป็นเงื่อนไขหลักของเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยมีอุปสรรคมาจากระบบการศึกษาไทยยังมีลักษณะเป็นการศึกษาในรูปแบบเดียว เหมือนโรงงานอุตสาหกรรมรุ่นเก่าที่ปั๊มคนออกมาให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำแบบเดียวกัน แต่ไม่ได้ส่งเสริมอิสระ ความคิดริเริ่ม และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และใช้ความสามารถของตนเองให้เต็มที่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้
รศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า การวิจัยได้มีข้อเสนอให้ผู้เรียนต้องมีคุณลักษณะ 4 ร. คือ
1.รู้ทัน รู้นำโลก 2.เรียนรู้ชำนาญ เชี่ยวชาญปฏิบัติ 3.รวมพลังสร้างสรรค์สังคม และ 4.รักษ์ความเป็นไทย ใฝ่สันติ โดยเฉพาะผู้เรียนต้องมีความคิดใหม่ คิดสร้างสรรค์ คิดแจ้งแทงตลอด, การจัดการศึกษาต้องจัดในลักษณะให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามความถนัด ความสนใจ, การสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องยกเครื่องใหม่ให้สามารถรับคนที่มีความสามารถพิเศษได้ ระบบแอดมิสชั่นยังไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมพอ เพราะยังยึดติดคะแนนสอบเป็นหลักอยู่, นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการยกเครื่องการศึกษาใหม่โดยตั้งโรงเรียนรูปแบบใหม่ หรือยกเครื่องโรงเรียนเดิมให้เด็กพัฒนาความสามารถและศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ เปิดทางเลือกให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยไม่ยึดติดกับคะแนนรวม, ส่งเสริมครูที่สอนให้เด็กได้ใช้ศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ และสนับสนุนคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่พัฒนาแนวคิดมหาวิทยาลัยในโรงเรียน รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่ไม่ใช่ระบบโรงเรียนให้มากขึ้น17 กุมภาพันธ์ 2548.......... 4 อันตรายการศึกษาไทย
สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน 1 ใน 4 ตัวเลขของ "ข่าวสด" ที่นำเสนอการเปรียบเทียบงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาในปี พ.ศ.2546 รัฐบาลทั่วโลกลงทุนโดยเฉลี่ย 4.5 ของจีดีพี อัตราการเรียนทั่วโลกระดับประถมอยู่ที่ร้อยละ 103 ระดับมัธยมอยู่ที่ร้อยละ 70 และอุดมศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 24 ภาพรวมการศึกษาโลก เป็นเช่นนี้ ตัวเลขการลงทุนของประเทศไทยสูงมาก แต่ลำดับที่เชิงคุณภาพอยู่เกือบท้ายในทุกด้าน ผู้อ่านลองพิจารณาข้อมูลทั้งหมดแล้วจะทราบว่าทำไมปฏิรูปการศึกษากี่ปีกี่ชาติถึงไม่สำเร็จเสียที
1. ประเทศไทยใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษาร้อยละ 5 ของจีดีพี เป็นที่ 2 รองแค่มาเลเซียประเทศเดียวร้อยละ 7.9 สูงกว่าจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ เยอรมนี และอื่นๆ แต่ระบบการลงทุนและการนำไปใช้ให้เกิดคุณภาพการศึกษาเป็นระบบที่แย่ที่สุดในโลก งบส่วนใหญ่ลงไปที่เงินเดือนครูสูงถึงร้อยละ 80-85 งบบริหารจัดการ 12-15% แต่ที่ต่ำสุด ลงไปสู่นักเรียนเพียง 3-5% เท่านั้น
ในปัจจุบันด้วยการหาเสียงทางการเมืองกับครูเงินเดือนครูยิ่งมากขึ้นตามลำดับจนเบียดบังเงินจำนวนมากที่เด็กพึงได้รับ ครูมีเงินเดือนสูงเป็นเรื่องดีแต่ต้องสะท้อนคุณภาพเด็กดีขึ้นด้วยจึงจะถูก อะไรคือกระบวนการแก้ไขจุดนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน รัฐมนตรี นักการเมืองไม่มีใครกล้าแตะปล่อยคาราคาซังมาจนปัจจุบันนี้
2. อัตราส่วนของครูต่อนักเรียนอยู่ที่ครู 1 คน : นักเรียน 20 คน น่าจะสอนได้ดี มีกิจกรรม ดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง แต่ปัญหาการเมือง วิ่งเต้น โยกย้าย เสียเงินเสียทอง ครู 70-80% กระจุกตัวในเมืองใหญ่ เขตที่มีความเจริญ ส่วนกลาง อำเภอเมืองอย่างล้นเหลือ แต่ในเขตทุรกันดาร ห่างไกล เสี่ยงอันตราย ขาดแคลนครูอย่างหนัก แต่การผลิตครูยังเน้นเชิงปริมาณตลาดสายสังคมศาสตร์มาตลอด
3. ระดับไอคิวโดยเฉลี่ยของเด็กไทยอยู่ที่ระดับ 89-91 ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ 90-110 เด็กไทยเกือบ 50% กลายเป็นเด็กเรียนช้า สติปัญญาต่ำ เอ๋อ และเรียนรู้ได้ช้ายิ่งมิต้องไปพูดถึงเรื่องการแข่งขัน การเฉลียวฉลาด การสร้างคนสร้างประเทศให้เสียเวลา เพราะคุณภาพไอคิวพื้นฐานประเทศไทยมีแนวโน้มด้อยและลดลงต่อเนื่อง
4.ระดับคุณภาพการศึกษาด้านวิทย์ คณิต อังกฤษ เทคโนโลยี ต่ำมากอยู่ที่ 25% ซ้ำซากเช่นนี้เป็นเวลานานไม่มีอะไรดีขึ้น เห็นมีแต่ผักชีโรยหน้า เด็ก 3-4 คนได้รับรางวัลเหรียญโอลิมปิกกลับมาซึ่งแทบไม่สะท้อนโครงสร้างและปัญหารุนแรงที่มีอยู่เลย
นี่คือ 4 ตัวเลขอันตรายสุดยอด ซ้ำซาก ไม่แก้ไข คุณภาพต่ำ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่ยื้อฉุดกระชากการศึกษาไทยอยู่ตำแหน่งเกือบสุดท้ายมาโดยตลอดและจะรั้งท้ายไปอีกนานทีเดียว
( ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด: 3 มกราคม 2548 )