พระแก้วมรกตความจริงวันนี้

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร 

จากหนังสือ พระแก้วมรกตของไทย รวบรวมและเรียบเรียง โดย  ธรรมทาส พานิช
   การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองไชยา และเมืองนครศรีธรรมราชโบราณได้ก้าวหน้าเป็นอันมาก. เป็นอันลงร่องรอยเป็นอันดีว่า กรุงปาตลีบุตร ของตำนานพระแก้วมรกต คือเมืองไชยาโบราณ สมัยประมาณ พ.ศ. 1200 – 1300 อโศการาม ในตำนานพระแก้ว คือที่วัดแก้ว เมืองไชยา ......... เมืองไชยาในสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางของความเจริญของพุทธศาสนา ของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. สมเด็จพระอมรินทราธิราช ผู้ไปหาก้อนแก้วมาได้ คือพระอินทร์ เมื่อพระวิษณุกรรมเทพบุตรเจริญวัยพอที่จะโดยเสด็จพระบิดา ทรงม้าไปขอก้อนแก้วมรกต ถึงเหมืองแก้วในแดนยุนนาน ( ราชคตฤห์ ในตำนานไทย ) พระวิษณุกรรมเทพบุตร คือพระมหาราชวิษณุ ตามที่มีจารึกพระนามไว้ในจารึกวัดเวียงเมืองไชยา ด้านหลังว่า วิษณวาขโย จารึก พ.ศ. 1318  
    ตำนานพระแก้วมรกคตของไทย... เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า คนไทยโบราณ ( ขอม ) เป็นเจ้าของดินแดนพระนครวัด นครธม. ไม่มีตำนานพระแก้วมรกตในอินเดีย ในลังกาเลย. เพราะว่าพระแก้วมรกตนี้ กษัตริย์ไทยโบราณได้สร้างขึ้นไว้ที่กรุงปาตลีบุตร เมืองไชยา ของไทยนี่เอง..............   

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ( คลิกที่นี้เพื่อสืบค้นจากเว็บวิกิพีเดียโดยตรง หากเข้าไปข้อมูลอ้างอิงไม่ได้ )

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ทรงเครื่องทรงทั้งสามฤดู

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ทรงเครื่องทรงทั้งสามฤดู

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเต็ม

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

ชื่อสามัญ

พระแก้วมรกต

ประเภท

พระพุทธรูป

ศิลปะ

ศิลปะก่อนเชียงแสน

ขนาด
• ความกว้าง
• ความสูง


19 นิ้ว
28 นิ้ว

วัสดุ

หยกอ่อน ( Nephrite )

สถานที่ประดิษฐาน

ประธานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ความสำคัญ

พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของ กรุงรัตนโกสินทร์

หมายเหตุ

 

บทความนี้เกี่ยวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร สำหรับพระแก้วองค์อื่นๆ ดูที่ พระแก้ว

 

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร

พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อนสีเขียวดังมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน หลักฐานที่ตรงกันระบุว่าพบครั้งแรก ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดป่าญะ เมืองเชียงแสน (ปัจจุบันคือวัดพระแก้วงามเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย) สภาพเป็นพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง แต่เมื่อพระสงฆ์อัญเชิญออกจากพระเจดีย์ ปูนบริเวณพระนาสิกเกิดกระเทาะออก เห็นเป็นเนื้อมรกต จึงกระเทาะปูนออกทั้งองค์ เห็นเป็นเนื้อหยกสีมรกตทั้งองค์

หลังจากนั้น พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่ทราบข่าวการค้นพบพระพุทธรูปนี้ จึงเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ แต่ช้างทรงพระแก้วมรกตกลับไม่เดินทางไปยังเชียงใหม่ แต่ไปทางลำปางหากช้างนั้นมีพระแก้วมรกตอยู่บนหลังช้าง เชียงใหม่เห็นว่าลำปางก็อยู่ในอาณาจักรล้านนาจึงนำไปไว้ที่วัดพระแก้วดอนเต้า ถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช ได้เชิญพระแก้วมรกตมายังเชียงใหม่ สร้างปราสาทประดิษฐานไว้แต่ถูกฟ้าผ่าหลายครั้ง ครั้นเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้างซึ่งเป็นญาติกับราชวงศ์ล้านนามาครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาเสด็จกลับหลวงพระบาง ก็เชิญพระแก้วมรกตไปด้วยพร้อมกับพระพุทธสิหิงค์ ทางเชียงใหม่ขอคืนก็ได้แต่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อล้านช้างย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ก็เชิญพระแก้วมรกตลงมาด้วย ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง พระองค์ทรงได้ทรงยึดพระแก้วมรกต และพระบาง มาจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ (ลาว) ในครั้งนั้นประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงปัจจุบัน ส่วนพระบางทรงพระราชทานคืนให้แก่ลาว

ตำนานพระแก้วมรกต

ดูบทความหลักที่ ตำนานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

พระแก้วมรกตสร้างขึ้นในปี พุทธศักราช 500 โดยพระนาคเสนเถระ วัดอโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ในแผ่นดินพระเจ้ามิลินท์ (เมนันเดอร์) สมเด็จพระอมรินทราธิราช พร้อมกับพระวิสสุกรรมเทพบุตร ได้นำแก้วโลกาทิพยรัตตนายก อันมีรัตนายกดิลกเฉลิม 1000 ดวง สีเขียวทึบ (หยกอ่อน) นำมาจำหลักเป็นพระพุทธรูปถวายให้พระนาคเสน ถวายพระนามว่า พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต พระนาคเสนจึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ลงไปในพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต 7 พระองค์ คือพระโมลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ซ้าย-ขวา และพระเพลาซ้าย-ขวา แต่เมื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานแล้วนั้น เกิดเหตุการแผ่นดินไหวขึ้น พระนาคเสนได้พยากรณ์ว่า พระแก้วองค์นี้ จะเสด็จไปโปรดสรรพสัตว์ในเบญจประเทศ คือ ลังกาทวีป กัมโพชะศรีอโยธยา โยนะวิสัย ปะมะหละวิสัย และ สุวรรณภูมิ

พุทธศักราช 800 โดยประมาณในแผ่นดินพระเจ้าศิริกิตติกุมาร พระเชษฐราชโอรสในพระเจ้าตักละราช ขึ้นครองราชสมบัติเมืองปาฏลีบุตร เป็นช่วงที่เมืองปาฏลีบุตรเกิดมหากลียุค ทั้งมีการจลาจลภายในและข้าศึกภายนอก ผู้คนในปาฏลีบุตรที่เคารพนับถือพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต ลงสู่สำเภาแล้วเดินทางลี้ภัยไปยังลังกาทวีป เมื่อถึงลังกาทวีปพระเจ้าแผ่นดินลังกาทวีปในสมัยนั้น(ไม่ได้ระบุพระนาม) ทรงรับรักษาพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตเป็นอย่างดียิ่ง และทรงอุปถัมภ์ค้ำชูชาวปาฏลีบุตรเป็นอย่างดีสมควรตามความดีความชอบ

พุทธศักราช 1000 โดยประมาณในแผ่นดินศรีเกษตรพุกามประเทศ พระมหากษัตริย์ผู้ครองนครขณะนั้นคือพระเจ้าอนุรุทธราชาธิราช(ภาษาบาลี) หรือ มังมหาอโนรธาช่อ(ภาษามอญ) พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระอานุภาพมาก บริบูรณ์ด้วยพลช้างพลม้าและทหารมากมาย แต่พระองค์ก็เป็นกษัตริย์ที่ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง ทรงมีพระราชโองการ ให้ส่งพระราชสาส์นและเครื่องมงคลบรรณาการ ไปยังลังกาทวีป เพื่อขอคัดลอกพระไตรปิฎกและขอพระแก้วมรกตกลับมาด้วย แต่เรือที่บรรทุกพระแก้วมรกตถูกพายุพัด พลัดเข้าไปทางอ่าวกัมพูชาแทน พระเจ้านารายณ์ราชสุริยวงศ์ เจ้ากรุงอินทปัตถ์มหานคร แคว้นกัมพูชา สั่งให้อำมาตย์คุมสำเภากลับไปถวายคืนแก่พระเจ้าอนุรุทธ แต่ส่งกลับไปเพียงพระไตรปิฎกเท่านั้น มิได้ส่งพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตไปด้วย

หลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่กรุงอินทปัตถ์นานพอสมควร(ไม่ได้ระบุปี) ในแผ่นดินพระเจ้าเสน่ห์ราช เกิดพายุฝนขนาดใหญ่ตกเป็นนิจกาลยาวนานหลายเดือน(ไม่ได้ระบุ) พระเจ้าเสน่ห์ราชก็สวรรคตด้วยอุทกภัยนั้น พระมหาเถระ(ไม่ปรากฏพระนาม) ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสำเภาหนีไปยังที่ดอน พระเจ้าอติตะราช (อาทิตยราช) เจ้าครองนครอโยธยา(หมายถึงอโยธยาโบราณ) ทราบเรื่องจึงเสด็จกระบวนพยุหยาตรา ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ในที่ปลอดภัย โดยทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานในพระมหาเวชยันตปราสาท และได้ประดิษฐานในนครอโยธยาอีกหลายรัชสมัย

ต่อมาเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพระบรมญาติกับกษัตริย์อโยธยาสมัยนั้น จึงทูลขอนำพระแก้วมรกตขึ้นไป ประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรอีกหลายรัชสมัย ซึ่งปัจจุบันก็คือวัดพระแก้วกำแพงเพชร ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต่อมา พระเจ้าพรหมทัศน์เจ้านครหิรัญนครเงินยางเชียงแสนได้ทูลขอพระแก้วมรกตต่อพระเจ้ากำแพงเพชร พระเจ้ากำแพงเพชรจึงได้ถวายให้นครเชียงแสน

ต่อมานครเชียงแสนเกิดมีศึกกับนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เจ้าผู้ครองนครเชียงแสนในเวลานั้นได้ทำการพอกปูนจนทึบและลงรักปิดทองเสมือนพระพุทธรูปสามัญทั่วไป แล้วบรรจุเก็บไว้ในเจดีย์วัดป่าญะในเมืองเชียงแสน จากนั้นกษัตริย์และพระราชวงศ์อพยพผู้คนลงมาทางใต้ ส่วนเมืองเชียงแสนก็ถูกตีแตกและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในที่สุด

 ประเพณี

เนื่องจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระพุทธูปประจำพระราชอาณาจักร ดังนั้นประเพณีที่เกี่ยวข้อง ส่วนมากจึงเป็นพระราชพิธี เช่น

·                     พระราชพิธีตรียัมปวาลและตรีปวาย

·                     พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา

·                     พระราชพิธีศรีสัจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

·                     พระราชพิธีตรุษสงกรานต์

·                     พระราชพิธีฉัตรมงคล

·                     พระราชพิธีพืชมงคล

·                     พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา

·                     พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอาสาฬหบูชา

·                     พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา

·                     พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง

·                     พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

·                     พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มีกำหนดการดังนี้ เครื่องทรงฤดูร้อน ทรงเปลี่ยน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 เครื่องทรงฤดูฝน ทรงเปลี่ยน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เครื่องทรงฤดูหนาว ทรงเปลี่ยน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12

·                     พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

·                     พระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล

·                     พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏดวงพระราชสมภพ

·                     พิธีตั้งสมณศักดิ์และสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

 การขึ้นทะเบียน

1.                   กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเป็นพระพุทธรูปสำคัญ ตามบัญชีแนบท้าย ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. 2520

 

ตำนานพระแก้วมรกต จากเว็บไซตทัวร์ดอย

http://www.tourdoi.com/travel/happiness/prakaew1.htm

 พระแก้วมรกต  เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่อมใสของผู้คนในภูมิภาคแหลมทองมาเป็นเวลานาน เริ่มตั้งแต่ดินแดนถิ่นนี้ยังเป็นอาณาจักรต่างๆ มิได้รวมกันเป็นประเทศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอรวบรวมได้ว่าองค์พระแก้วมรกตสร้างขึ้นในประมาณ ปี พ.ศ. 500 โดยพระนาคเสนเถระ เมืองปาฏลีบุตร อินเดีย เข้ามาสู่ดินแดนของไทยครั้งแรกในอาณาจักรอโยธยา จากนั้นอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วเมืองชากังราวหรือกำแพงเพชร จากกำแพงเพชรได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วเชียงรายเป็นเวลา 45 ปี จากนั้นก็อัญเชิญลงมาประดิษฐานที่ลำปางอีก 32 ปี จากลำปางอัญเชิญขึ้นเหนือไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง จ. เชียงใหม่ เป็นเวลา 85 ปี  จากเชียงใหม่ไปประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทร์ 225 ปี แต่เก่าก่อนตอนปลายสมัยอยุธยา เมืองเวียงจันทน์ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยามีศึกหนักกับพม่าจนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทางเวียงจันทน์ถือโอกาศแข็งเมืองแยกตัวเป็นอิสระ จนกระทั่งพระเจ้าตากกอบกู้เอกราชได้และตั้งราชธานีใหม่จึงได้ส่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองเวียงจันทน์ให้กลับมาเป็นเมืองขึ้นเหมือนเดิม ศึกครั้งนั้นทัพของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาดจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับคืนสู่แผ่นดินไทย

ครั้งแรกเมื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมายังประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรีได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ที่วิหารน้อยวัดอรุณราชวราราม  ประดิษฐานอยู่ที่วัดอรุณฯ เป็นเวลา 5 ปี

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเมื่อชนะศึกเมืองเวียงจันทน์และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาก็เกิดความยินดี ดั่งว่าพระแก้วมรกตเป็นพระคู่บารมีคู่บ้านคู่เมือง    ครั้นเมื่อสิ้นกรุงธนบุรีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นมหากษัตริย์ได้สำเร็จ และได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่มีชื่อว่า กรุงรัตนโกสินทร์ นัยว่าเป็นชื่อที่มีที่มาจากพระแก้วมรกต   กรุง แปลว่า เมือง   รัตน  แปลว่าแก้ว  โกสินทร์  แปลว่าพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์จะมีองค์สีเขียว รวมระยะเวลาที่องค์พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2321 จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 227 ปี

พระแก้วมรกต ท่านได้ไปประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใด ที่นั้นก็จะมีแต่ความสุขเจริญรุ่งเรือง  เมื่อมีสิ่งศักดิ์อยู่คู่บ้านคู่เมืองของเราแล้วก็ขอเชิญท่านทั้งหลายไปกราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวท่านเอง

พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกต

รอยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระแก้วมรกต

หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระแก้วมรกต มีทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานทางโบราณคดี  ในส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นได้ปรากฎอยู่ในเอกสารโบราณมากมาย อาทิเช่น เรื่องรัตน์พิมพ์วงค์ ตำนานพระแก้วมรกต เรื่องพระรัตนปฏิมา ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์   พงศาวดารเหนือ ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา  ตำนานพระแก้วมรกตฉบับหลวงพระบาง และพงศาวดารโยนก เป็นต้น

จากเอกสารดังกล่าว  สามารถประมวลได้ว่า  พระแก้วมรกต สร้างขึ้นจากความดำริของพระนาคเสนเถระ  แห่งเมืองปาตลีบุตร  ในชมพูทวีป ( ประเทศอินเดียวในปัจจุบัน ) เมื่อประมาณ พ.ศ.500  จากนั้นก็ได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามเมืองสำคัญต่างๆ  ตามลำดับ  ดังนี้

·    เกาะลัง   เมื่อประมาณปี  พ.ศ. ๘๐๐

·    เมืองนครธม   ในอาณาจักรขอมโบราณ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๐๐

·    เมืองอโยชปุระ หรือเมืองอโยธยาโบราณ  ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช

·    เมืองกำแพงเพชร ในสมัยพระยะาวิเชียรปราการ

·    เมืองเชียงราย ในสมัยเจ้ามหาพรหม

·    นครเขลางค์ หรือเมืองลำปาง  ระหว่างปี ๑๘๗๙ - พ.ศ. ๒๐๑๑

·    เมืองเชียงใหม่   ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๑๑ - พ.ศ. ๒๐๙๖  ในสมัยพระเจ้าติโลกราช

·    เมืองหลวงพระบาง  ในปี พ.ศ. ๒๐๙๖

·    เมืองเวียงจันทร์  จนถึง พ.ศ. ๒๓๒๑

·    กรุงธนบุรี ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๑ - พ.ศ. ๒๓๒๗

·    กรุงเทพมหานคร  ตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๒๓๒๗  จนถึงปัจจุบัน

ด้านหลักฐานทางโบราณคดี  ปัจจุบันในภาคเหนือของประเทศไทยยังคงปรากฏร่องรอยในโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตอยู่อย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ ได้แก่

·    โบราณสถานวัดพระแก้ว ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

·    เจดีย์โบราณ  วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม  จังหวัดลำปาง

·    เจดีย์หลวง  ในวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่

·    เจดีย์โบราณ  ในวัดพระแก้ว  จังหวัดเชียงราย

เรื่องตำนานพระแก้วมีหลายฉบับอาจจะผิดพลาดในเรื่องของเวลาและการกำหนดปีพุทธศักราชอยู่บ้าง แต่สิ่งเป็นจริงที่แน่แท้ไม่ผิดเพี้ยนคือปัจจุบันนี้พระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยของเรา ที่วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาติไทยมาช้านาน

สถานที่ต่างๆ ที่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตล้วนมีความสำคัญในแง่ของความศรัทธาและความเชื่อของผู้คนท้องถิ่น  อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่มีศิลปะที่งดงามในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น หากมีเวลาจึงขอเชิญชวนทุกท่านเดินท่องเที่ยวเยือนเมืองเหนือกราบรอยพระแก้วมรกตเพื่อความเป็นสิริมงคลและยังได้ท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ที่มีความสวยงามทั้งศิลปะวัฒนธรรมและธรรมชาติ

เยือนเมืองเหนือ.... กราบรอยพระแก้วมรกต

กำแพงเพชร - ลำปาง - เชียงใหม่ - เชียงราย

วัดพระแก้วเมืองกำแพงเพชร   คลิกอ่านต่อ
วัดพระแก้ว เชียงราย   คลิกอ่านต่อ
วัดพระแก้วดอนเต้า  จ. ลำปาง  คลิกอ่านต่อ
วัดเจดีย์หลวง จ. เชียงใหม่   คลิกอ่านต่อ

 

เรียบเรียงสรุปย่อความ .......
โดย พล.อ.ต. วินิจ หุตะเจริญ

เมื่อ พ.ศ.234 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีพวกเดียรถีย์ปลอมเป็นพระภิกษุสงฆ์ จึงได้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกกำจัดเดียรถีย์ กระทำที่  ถูปาราม กรุงปาฏลีบุตร ชมพูทวีป ต่อจากนั้นได้ส่งพระเถระออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ แผ่นดินสุวรรณภูมิ มีพระโสณะและพระอุตตระเป็นหัวหน้าคณะ ผู้ร่วมคณะติดตามจึงน่าจะเป็นชนชาติมคธ ดินแดนสุวรรณภูมิในศตวรรษที่ 3 น่าจะเป็นชนชาติ ละว้า, มอญ, ขอม และชนพื้นเมืองอื่นๆ ไทยพึ่งจะตั้งตนปกครองอาณาจักรสุโขทัย ราวศตวรรษที่ 18 หลังจากพุทธศาสนามาถึงเมืองไทยราว 1500 ปี ในเวลานั้นมีการเดินทางของญาติพี่น้องชาวมคธ มายังประเทศไทย ทั้งทางตอนเหนือ, ตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ เช่นที่เมืองไชยา ( ไทยเรียกชื่อว่า “ ปาฏลีบุตร ” เหมือนในประเทศอินเดีย ) และเมืองนครศรีธรรมราช ( ตามพรลิงค์ ) และอยู่กินกับชนพื้นเมืองในประเทศ มีบุตรหลานที่มีการศึกษาเฉลียวฉลาด สามารถรวบรวมพลเมืองตั้งเป็นอาณาเขตปกครองของตระกูลไศเลนทร์วงษ์ ในยุคศรีวิชัย เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองในภาคกลาง ได้อยู่กินกับชาวมคธ จากอินเดีย สามารถรวบรวมอาณาเขตปกครองในยุคทวาราวดี ซึ่งชนพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นชนชาติมอญ นอกจากนี้ชาวเปอร์เชียที่นับถือศาสนาใหม่ได้แก่ศาสนาอิสลามได้รุกราน ฆ่าฟัน เผาและทำลายอาคารในพุทธศาสนาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 จนถึงศตวรรษที่ 9 จนถึงแก่ชีวิต ต้องหลบหนีมาทางพม่าและไทย ชนชาติที่นิยมมาทางพม่าได้แก่ชนชาติจากแคว้นโกศล และใกล้เคียง ที่เข้ามาทางไทยเพราะมีญาติพี่น้องอยู่ในไทยอยู่แล้วได้แก่ชาวมคธ และใกล้เคียง พวกที่เข้ามาทางเรือ จะเข้ามาทางเมืองไชยาและเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้ศาสนาพุทธในไทยเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น

ปี พ.ศ.1260 กษัตรย์ไศเลนทร์วงษ์ ซึ่งครองเมืองไชยา ( ปาฏลีบุตร ) ทรงพระนามพระเจ้าอินทร์บรมเทพ ได้ให้พระวิษณุกรรมราชบุตร ส่งเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน และทูลขอหินสีเขียวจากเมืองจีน นำมาสร้างพระแก้วมรกต ( ทำไมจึงสร้างพระพุทธรูปจากแก้ว? เรื่องมีว่าเมื่อพระอรหันต์นามพระมหาธรรมรักขิตเถรเจ้า ผู้เป็นอาจารย์นิพพานไปแล้ว พระอรหันต์นาม นาคเสนผู้เป็นศิษย์ คิดเห็นว่า ควรจะสร้างพระพุทธรูปเจ้าขึ้นไว้ เพื่อแทนองค์อาจารย์ผู้ได้สั่งสอนนิพานธรรมให้แก่ศิษย์ .......... ได้เข้าถึงสวรรค์และนิพพาน ได้เป็นจำนวนมาก ถ้าจะสร้างด้วยเงินและทองคำ จะให้ยั่งยืนมั่นคงหาได้ไม่ เพราะคนทั้งปวงเขามี โลภะ โทสะ โมหะมาก เขาจะทำลายพระพุทธรูปเสีย เราควรจะสร้างพระพุทธรูปไว้ด้วยแก้ว พระอินทร์กับพระวิษณุกรรม ทราบความปรารถนาของพระนาคเสนแล้ว ก็รับอาสาไปหาก้อนแก้วมรกตมาถวาย... )  

ปี พ.ศ.1400 กรุงไชยาเกิดอุทกภัย เกิดโรคระบาด จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ( ตามพรลิงค์ ) จนถึงปี พ.ศ.1432 พระเจ้าอนุรุธกษัตริย์พม่าได้ส่งกองเรือสำเภามาทูลขอพระไตรปิฎก พร้อมทั้งพระแก้มรกต ลงเรือสำเภากลับพม่า เจ้าชายในตระกูลไศเลนทร์วงษ์ โกรธแค้น ได้ฆ่านายท้ายเรือพม่า พร้อมทั้งแล่นเรือกลับด้วยเกรงว่ากษัตริย์ไศเลนทร์วงษ์แห่งเมืองนครศรีธรรมราชจะลงโทษ จึงแล่นเรือเลยไปจนถึงเมืองเขมร ซึ่งมีกษัตริย์ ทรงพระนามพระเจ้า ปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นโอรสของกษัตริย์ไศเลนทร์วงษ์ ซึ่งมารดาเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์เขมรองค์ก่อน ได้ถวายวังให้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ชื่อว่า “ นครวัด ”

ต่อมาในปี พ.ศ.1545 เขมรเกิดจลาจลรบพุ่งแย่งชิงราชสมบัติ พระเถระได้ลอบนำพระแก้วมรกต ลงเรือมายังกรุงละโว้ ( ลพบุรี ) ถวายพระเจ้ากรุงละโว้ เพราะเป็นเครือญาติกับกษัตริย์เขมร

ต่อมา พ.ศ.1592 กษัตริย์เมืองอโยธยา ( อู่ทอง ) ได้ทูลขอพระแก้วมรกต จากพระเจ้ากรุงละโว้ จึงมาประดิษฐานอยู่ที่อโยธยา จนถึงปี พ.ศ.1730 กษัตริย์กำแพงเพชรได้ทูลขอพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้จนปี พ.ศ.1900 กษัตริย์เมืองเชียงรายเรืองอำนาจ จึงทูลขอต่อกษัตริย์เมืองกำแพงเพชร ประดิษฐานอยู่เมืองเชียงรายจนถึงปี พ.ศ.2019 ต่อมามีการสร้างเมืองเชียงใหม่ กษัตริย์เมืองเชียงใหม่เรืองอำนาจ จึงทูลขอต่อพระเจ้าเชียงราย ได้บรรทุกช้างมา ช้างพาหลงทางไปจนถึงเมืองลำปาง ประดิษฐานอยู่ที่เมืองลำปางจนถึงปี พ.ศ.2022 พระเจ้าเชียงใหม่ติดตามพระแก้วมรกตกลับไปเมืองเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ.2095 พระเจ้าเชียงใหม่สวรรคต มอบราชสมบัติให้พระราชนัดดา พระไชยเชษฐาธิราชโอรสพระเจ้าโพธิสาร กษัตริย์ลาว ซึ่งพระราชมารดาเป็นพระราชธิดากษัตริย์เมืองเชียงใหม่ พระไชยเชษฎาธิราชครองเมืองเชียงใหม่ได้ไม่นาน คิดถึงพระราชบิดามารดา เสด็จกลับเมืองหลวงพระบาง และนำเอาพระแก้วมรกต และพระพุทธสิหิงค์ กลับไปประเทศลาวด้วย

เมือพระโพธิสารสวรรคต พระไชยเชษฐาธิราช ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ลาว จนปี พ.ศ.2107 ได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ พระแก้วมรกตจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่นครเวียงจันทน์

จนถึงปี พ.ศ.2322 พระเจ้าตากสินมหาราชได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาพระมหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพยกไปตีประเทศลาว ยึดเอาพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ และพระบาง นำกลับมากรุงธนบุรี ต่อมาเห็นว่าพระบางเป็นสมบัติของประเทศลาว จึงดำเนินการส่งคืน เมื่อ ร.1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์ ได้ประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้ที่พระบรมมหาราชวังและประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในปี พ.ศ.2327 จนกระทั่งปัจจุบัน

สรุป พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ตามที่ต่างๆ ดังนี้  

1. ไชยา ( ปาฏลีบุตร ) พ.ศ. 1260 – 1400 รวม 140 ปี

2. นครศรีธรรมราช ( ตามพรลิงค์ ) พ.ศ.1400 – 1432 รวม 32 ปี

3. นครวัด ( เขมร ) พ.ศ. 1432 – 1545 รวม 113 ปี

4. ลพบุรี ( ละโว้ ) พ.ศ. 1545 – 1592 รวม 47 ปี

5. อโยธยา ( อู่ทอง ) พ.ศ. 1592 – 1730 รวม 138 ปี

6. กำแพงเพชร พ.ศ. 1730 – 1900 รวม 170 ปี

7. เชียงราย พ.ศ. 1900 – 2019 รวม 119 ปี

8. ลำปาง พ.ศ. 2019 – 2022 รวม 4 ปี

9. เชียงใหม่ พ.ศ. 2022 – 2095 รวม 73 ปี

10. หลวงพระบาง ( ลาว ) พ.ศ. 2095 – 2107 รวม 12 ปี

11.เวียงจันทน์ ( ลาว ) พ.ศ. 2107 – 2322 รวม 215 ปี

12. ธนบุรี พ.ศ. 2322 – 2327 รวม 5 ปี

13. กรุงเทพฯ พ.ศ. 2327 – ปัจจุบัน

                                                       ----------------------------------------------