๑๐ คุณลักษณะ ครูพันธุ์ใหม่ 

ดร.พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา

 

ท่านคงเคยได้ยินชื่อ "ครูพันธุ์ใหม่" จากทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้แต่ในวงการประชุมสัมมนา หลายคนคงพอนึกได้ว่าครูพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นหลังจากมีการปฏิรูปการศึกษาตามนัยแห่ง ...การศึกษาแห่งชาติปี พ..2542 ที่กำหนดว่าระบบและกระบวนการผลิตพัฒนาครูจะต้องปรับเปลี่ยนให้ได้ครูที่มีศักยภาพ คุณภาพ สมกับเป็นวิชาชีพชั้นสูง จึงได้มีการผลิตครูระบบใหม่เกิดขึ้น ออกแบบหลักสูตรเป็น 5 ปี ซึ่งหลายคนก็เรียกว่า "ครูห้าปี" เมื่อจบหลักสูตรจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สังคมและในวงวิชาการต่างคาดหวังว่า "ครูห้าปี" จะเป็นสายเลือดใหม่และผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ที่จะมากู้วิกฤตศรัทธาในวิชาชีพครู มาเป็นอัศวินม้าขาวในการปฏิรูปการศึกษา จึงมีคำถามมากมายว่า "ครูพันธุ์ใหม่" หรือ "ครูยุคใหม่" เป็นอย่างไร แตกต่างจากครูยุคก่อนๆ อย่างไร จากการที่ได้รวบรวมแนวคิด การทำวิจัย การประกาศหลักการของประเทศต่างๆ การประชุมสัมมนา รวมทั้งการสำรวจแล้วจัดทำคุณลักษณะครูยุคใหม่ที่คาดหวังครูเลือดใหม่-ครูพันธุ์ใหม่ น่าจะมีภาพลักษณ์ คุณลักษณ์ ที่สะท้อนมาจากหลักการ (Principle) 10 ประการ ซึ่งน่าจะใช้เป็นมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูใหม่-ครูเก่าที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาได้

หลักการที่ 1 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจในเรื่องของแนวคิดหลักแห่งวิชาชีพครู มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเครื่องมือที่จะใช้สำหรับการแสวงหาความรู้ การสอบถาม มีความเข้าใจในโครงสร้างของสาขาวิชาที่ตนเป็นผู้สอน และสามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่จะช่วยส่งเสริมให้เนื้อหาวิชาเหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน

หลักการที่ 2 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจในเรื่องของการเรียนรู้และพัฒนาของเด็ก รู้จักสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสติปัญญา สังคมและพัฒนาการส่วนบุคคล

หลักการที่ 3 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจถึงความแตกต่างในการเรียนรู้ของเด็กและสามารถสร้างสรรค์โอกาสในการจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับผู้เรียนที่หลากหลายได้

หลักการที่ 4 :  ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจและรู้จักใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายในการสอน เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล สามารถแก้ไขปัญหาและมีทักษะในเชิงปฏิบัติ

หลักการที่ 5 :  ครูพันธุ์ใหม่ใช้ความเข้าใจในตัวเด็กแต่ละบุคคล รวมทั้งการใช้ทั้งแรงจูงใจและพฤติกรรมของกลุ่มมาสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และการสร้างแรงจูงใจในตัวของผู้เรียน

หลักการที่ 6 :  ครูพันธุ์ใหม่รู้จักเลือกใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดผล สามารถใช้อากัปกิริยาท่าที รวมทั้งเทคนิควิธีการสื่อความหมายที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กรู้จักถาม รู้จักแสวงหาความรู้ ตลอดทั้งรู้จักสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์

หลักการที่ 7 :   ครูพันธุ์ใหม่  รู้จักวางแผนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาความต้องการของชุมชนและเป้าหมายของหลักสูตร  

หลักการที่ 8 :  ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจและใช้ยุทธวิธีการประเมินผลในรูปแบบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อประเมินสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นว่าผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทั้งทางสติปัญญา สังคมและร่างกายอย่างต่อเนื่อง

หลักการที่ 9 :  ครูพันธุ์ใหม่จะต้องเป็นนักปฏิบัติการที่มีความถี่ถ้วน รู้จักที่จะประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเองและบุคคลอื่นอย่างต่อเนื่อง (นักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ในชุมชนการเรียนรู้) พร้อมทั้งหาโอกาสที่จะสร้างความก้าวหน้าทางวิชาชีพของตนให้เกิดขึ้น

หลักการที่ 10 :  ครูพันธุ์ใหม่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานในโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และหน่วยงานต่างๆ ในชุมชนขนาดใหญ่ (ชุมชนที่มีเครือข่ายมาก) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเด็ก

ขอให้ท่านผู้อ่านได้คิดวิเคราะห์ให้เห็นภาพว่า "ครูยุคใหม่" ตามหลักการที่นำเสนอทั้ง 10 ประการ ว่าตรงกับครูในอุดมคติของท่านหรือไม่ แล้วลองเทียบเคียงกับภาพครูในอดีตที่ท่านรู้จักด้วยว่าเหมือนกันหรือต่างกันในหลักการใดบ้าง หากมีข้อคิดเห็นที่ต้องการแลกเปลี่ยนเรื่อง "ครูพันธุ์ใหม่" ก็ขอให้ส่งจดหมายมาที่ "กลุ่มการผลิตและพัฒนาครู" ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ได้ เพื่อจะได้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันต่อไป        (   ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน: วันที่ 4 กรกฎาคม 2547  )